“เข่าเสื่อม” เรื่องใกล้ตัว ยิ่งอายุมาก ยิ่งเสี่ยงมาก

0

เมื่ออายุมากขึ้น จำต้องหนักใจกับปัญหาโรคต่างๆ ที่รุมเร้า หนึ่งในนั้นก็คืออาการหรือโรค “เข่าเสื่อม”หรือก็คือ หัวเข่านั้นมีความสึกหรอเกิดขึ้น โดยผิวสัมผัสของข้อซึ่งเป็นกระดูกอ่อนมีความบางลงเรื่อยๆในบริเวณใดบริเวณหนึ่งของข้อเข่าหรือหลายๆบริเวณ และมักมีกระดูกงอกขึ้นมาในบริเวณขอบๆของข้อ

“เข่าเสื่อม”

หรือ “โรคข้อเข่าเสื่อม”(Gonarthrosis) คือโรคที่เกิดจากความเสื่อมหรือสึกกร่อนของกระดูกข้อเข่าทั้งทางด้านรูปร่าง โครงสร้าง การทำงานของกระดูกข้อต่อและกระดูกบริเวณใกล้ข้อโดยเกิดความเสื่อมตามวัย และจากการใช้งานมาก ทำให้เกิดการเสียดสี และถลอกของผิวกระดูก เมื่อไม่มีผิวกระดูกอ่อนมาห่อหุ้ม เนื้อกระดูกที่มาชนกันขณะรับน้ำหนัก จนทำให้เกิดอาการเจ็บปวด และเดินลำบาก ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ไม่สามารถกลับสู่สภาพเดิมและอาจมีความเสื่อมรุนแรงขึ้นตามลำดับ

โรคนี้มีความสัมพันธ์อย่างมากกับอายุโดยทั่วไปจะพบมากในช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไปและพบสูงถึงร้อยละ 60 ในกลุ่มที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป

Gonarthrosis

แต่ทั้งนี้ก็อาจมีปัจจัยอื่นที่กระตุ้นให้เกิดอาการ “เข่าเสื่อม” อาทิ เข่าเคยได้รับบาดเจ็บมาก่อน, ขาโก่งทำให้การรับน้ำหนักกระจายไม่สม่ำเสมอ จุดที่รับน้ำหนักมากก็เสื่อมเร็ว, มีโรคไขข้อที่ทำให้เข่ามีการอักเสบอยู่เรื่อยๆ, เคยมีเข่าที่ถูกทำลายเพราะการติดเชื้อโรค, การใช้งานเข่าที่หนักเกินไป, มีน้ำหนักมาก ทำให้เข่าต้องทำงานหนัก, ติดนิสัยใช้ท่าทางบางอย่างที่ต้องงอเข่ามากเกินไป  และยังขึ้นอยู่กับพันธุกรรมของแต่ละคนด้วย

อาการของเข่าเสื่อม คือ ปวดเข่า เข่าบวม เข่าผิดรูป (ขาโก่งเพราะเข่าเสื่อม) เข่าไม่มั่นคง ไม่สามารถนั่ง ยืน เดินได้นานเหมือนตอนหนุ่มสาว ไม่สามารถพับข้อเข่าเพื่อการนั่งเตี้ยๆ ไม่สามารถนั่งยองๆทำธุระส่วนตัว และไม่สามารถขึ้น-ลงที่สูงได้ทั้งนี้การวินิจฉัยเข่าเสื่อม อาศัยเพียงเอกซเรย์เข่าก็บอกได้แล้วว่าเข่าเสื่อมหรือไม่ โดยจะพบว่ามีการแคบลงของข้อ และ/หรือ มีกระดูกงอกตามขอบกระดูกของข้อเข่า

เราไม่สามารถป้องกันเข่าเสื่อมได้ร้อยเปอร์เซ็นต์เพราะสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการเสื่อมของข้อตามธรรมชาติ!

แต่สามารถชะลอให้เข่าเสื่อมช้าลงได้โดยการปรับพฤติกรรม เช่น ควบคุมน้ำหนัก ไม่ปล่อยให้อ้วน, ระมัดระวังอย่าให้บาดเจ็บที่เข่า, ไม่ปล่อยขาที่โก่งในช่วงที่อายุน้อยไว้โดยไม่ทำการรักษา, ถ้ามีโรคข้อเข่าอักเสบ ก็อย่าทิ้งไว้ ควรต้องรักษาให้หายอักเสบโดยเร็ว, หลีกเลี่ยงการงอเข่าเป็นมุมแหลม เช่น นั่งกับพื้น นั่งยองๆ ขึ้น-ลงบันได, หาวิธีช่วยพยุงเข่า และช่วยลดน้ำหนักตัวที่ลงมาที่เข่า เช่น การใช้ไม้เท้า

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *