ข้อเข่าเสื่อม เป็นปัญหาสุขภาพสำคัญที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ โดยมักพบในคนอายุ 40 ปีขึ้นไป ยิ่งอายุมาก ความเสี่ยงยิ่งสูง ภาวะข้อเข่าเสื่อมส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวและการใช้ชีวิตประจำวัน ความรู้ความเข้าใจภาวะข้อเข่าเสื่อมจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีและดำรงชีวิตได้ใกล้เคียงปกติ
โรคข้อเข่าเสื่อม (Knee Osteoarthritis) เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ พบมากในวัยกลางคนและผู้สูงอายุ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ที่มีภาวะข้อเข่า เสื่อมมาก ถ้าไม่ได้รับการรักษาหรือปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม โรคจะดำเนินไปเรื่อย ๆ เป็นภาวะที่กระดูกอ่อนผิวข้อนั้นมีการเสื่อมและถูกทำลายร่วม กับการลดลงของน้ำไขข้อ ซึ่งทำให้ส่วนปลายของกระดูกข้อเข่ามีการเสียดสีกันโดยตรง เกิดการงอกของกระดูกบริเวณขอบโดยรอบของข้อเข่าที่เกิดการเสื่อม ส่งผลให้มีอาการปวด อักเสบ และสูญเสียการเคลื่อนไหวของข้อต่อตามมา
สาเหตุของการเกิดภาวะข้อเข่าเสื่อมที่แท้จริงยังไม่ทราบแน่ชัด แต่จะพบว่าผู้ที่มีปัจจัยความเสี่ยงสูง ได้แก่
– อายุมากโดยเฉพาะช่วงอายุ 50-75 ปี
– พบในเพศหญิงได้มากกว่าเพศชาย
– อ้วน น้ำหนักตัวมาก
– มีการใช้งานของข้อเข่าอย่างหนัก โดยเฉพาะการนั่งยอง ๆ พับเพียบ คุกเข่า
– เคยได้รับบาดเจ็บที่ข้อและเส้นเอ็น หรือบาดเจ็บเรื้อรังที่บริเวณข้อเข่า
– กล้ามเนื้อต้นขาไม่แข็งแรง
– เกิดจากโรคข้ออักเสบชนิดอื่น ๆ เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เกาต์ ข้ออักเสบติดเชื้อ โรคของต่อมไร้ท่อ
อาการที่สำคัญของข้อเข่าเสื่อม คือ ปวดตื้อ ๆ บริเวณรอบ ๆ ข้อเข่า มีปวดมากขึ้นเมื่อใช้งานในทางงอหรือลงน้ำหนัก ข้อเข่าฝืดตึง เช่น นั่งพับเพียบ ลุกนั่ง ขึ้นลงบันได และอาการจะดีขึ้นเมื่อหยุดพัก, มีเสียงดังกรอบแกรบขณะเคลื่อนไหว, มีอาการฝืดขัดข้อเข่า โดยเฉพาะตอนเช้าและเมื่อหยุดเคลื่อนไหวเป็นเวลานาน, ข้อเข่าติด เหยียดหรืองอเข่าได้ไม่สุด,
เข่าบวมแดงหรือโต มีน้ำภายในข้อจากการอักเสบ, กล้ามเนื้อขาลีบเล็กลงกว่าข้างปกติ และเมื่อข้อเข่าเสื่อมมากขึ้นและเรื้อรัง จะพบข้อเข่าโก่ง หลวมหรือเบี้ยวผิดรูป ทำให้เดินและใช้ชีวิตประจำวันลำบาก และมีอาการปวดเวลาเดินหรือขยับ
วิธีการรักษาและดูแลป้องกันโดยการรักษาทางยา เช่น พาราเซตามอล ยาแก้ปวด เพื่อบรรเทาอาการ หรือยากลุ่มกลูโคซามีน-ซัลเฟต เพื่อการสร้างน้ำไขข้อ การรักษาโดยการใช้เครื่องมือทางกายภาพ เช่น แผ่นความร้อนอัลตราซาวด์และกระตุ้นไฟฟ้า การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงกล้ามเนื้อรอบ ๆ ข้อ การใช้อุปกรณ์พยุงข้อเข่า เพื่อลดอาการปวดและเพิ่มความมั่นคงของข้อ ช่วยลดความเสี่ยงของการหกล้ม ผู้ป่วยบางรายอาจต้องใช้เครื่องช่วยเดิน เช่น ไม้เท้า หรือ Walker รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ท่าทาง การใช้ชีวิตประจำวันและสภาพแวดล้อม ควบคุมน้ำหนักตัวไว้ในระดับที่เหมาะสม กรณีผู้ป่วยที่เป็นมาระยะเวลานานและอาการรุนแรงจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด
การดูแลข้อเข่าอย่างถูกต้องและเหมาะสม จะช่วยชะลอความเสื่อม และยืดอายุการใช้งานของข้อเข่า ซึ่งจะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตในการใช้ข้อเข่าให้แก่ผู้สูงอายุได้ไม่มากก็น้อย