โรคมะเร็ง เป็นโรคที่มีอัตราการเสียชีวิตเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย รวมถึงหลายประเทศทั่วโลก สาเหตุการเกิดโรคมะเร็งส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม ที่น่ากลัวคือหลายคนมีพฤติกรรมเสี่ยงโดยไม่รู้ตัว เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งนี่คือ 9 สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง
9 สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็ง
1. เลี่ยงการสูบบุหรี่ งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากสารพิษในควันบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเกือบทุกชนิด เช่น มะเร็งปอด มะเร็งตับ มะเร็งช่องปาก ฯลฯ ส่วนการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น มีผลการศึกษาวิจัยจากหลาย ๆ ชิ้นงานพบว่าการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็ง เช่น มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งตับ มะเร็งเต้านม
2. เลี่ยงอาหารหมักดอง เนื่องจากกระบวนการหมักดองทำให้เกิดสารแอมโมเนียมไนไตรด์ ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง นอกจากนี้ อาหารหมักดองที่ไม่ได้มาตรฐานอาจมีการใส่สารบอแรกซ์ เพื่อทำให้อาหารมีลักษณะยืดหยุ่น กรอบ อร่อย ซึ่งบอแรกซ์นี้เป็นสารต้องห้าม และเป็นอันตรายกับผู้บริโภคมาก ที่สำคัญบอแรกซ์เป็นสารก่อมะเร็ง
3. เลี่ยงอาหารประเภทเนื้อสัตว์รมควัน ปิ้ง ย่าง ทอดจนไหม้เกรียม เนื่องจากเนื้อที่ไหม้เกรียม มีสารพิษชื่อ PAH (Polycyclic Aromatic Hydrocarbon) ซึ่งจากการศึกษาพบว่าสารนี้ก่อให้เกิดมะเร็งได้ในสัตว์ทดลองและในคน ดังนั้น การกินอาหารปิ้งย่างบ่อย ๆ หรือ กินเป็นประจำต่อเนื่อง อาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับ
4. เลี่ยงอาหารที่ใส่ดินประสิว (ไนเตรท) หรือ สารกันเสีย เช่น เนื้อสัตว์แปรรูป อาทิ ไส้กรอก เบคอน แฮม กุนเชียง แหนม เป็นต้น หากซื้อผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานหรือรับประทานเป็นประจำ อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพหรือเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งที่อวัยวะต่าง ๆ ได้ เช่น มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้
5. เลี่ยงอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ โดยเฉพาะปลาน้ำจืดประเภทปลาเกล็ดขาว ปลาตะเพียน พยาธิจะทำให้ท่อน้ำดีและขั้วตับเกิดการอักเสบ ส่งผลให้เป็นมะเร็งท่อน้ำดี มะเร็งตับได้ นอกจากนี้ยังมีพยาธิชนิดอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดมะเร็งในกระเพาะอาหารได้
6. เลี่ยงอาหารไขมันสูง เนื่องจากมีผลการศึกษาวิจัยจากหลาย ๆ ชิ้นงานพบว่า ผู้หญิงที่มีไขมันสูง มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งเต้านม เนื่องจากภาวะอ้วนจะส่งผลให้ร่างกายมีปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนเพิ่มสูงขึ้น
7. เลี่ยงอาหารที่มีอะฟลาท็อกซิน เนื่องจากอะฟลาท็อกซินเป็นสารพิษที่เกิดจากเชื้อราและมีการปนเปื้อนในอาหารโดยเฉพาะในถั่วต่าง ๆ สารนี้ไม่ถูกทำลายแม้ผ่านความร้อน และเป็นสารก่อมะเร็งที่ร้ายแรงที่สุดชนิดหนึ่ง
8. เลี่ยงการรับมลพิษ ฝุ่นควัน สารพิษ สารเคมี เช่น บริเวณที่มีการเผาไหม้จากท่อไอเสียของเครื่องยนต์ ควันบุหรี่ การเผาขยะเผาหญ้า เผาเชื้อเพลิงที่ใช้ในโรงงาน รวมถึงช่วงเวลาที่มีปริมาณฝุ่น PM 2.5 ในอากาศสูง หากมีความจำเป็นต้องอยู่ในบริเวณดังกล่าวควรป้องกันตนเองด้วยการสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นควัน
9. เลี่ยงการได้รับแสงแดดจัดหรือแสงแดดโดยตรง โดยไม่ได้รับการป้องกันนานเกินไป เนื่องจากความร้อนสูงและรังสียูวี
ที่เป็นอันตรายต่อเซลล์อาจทำให้เกิดมะเร็งผิวหนัง ควรป้องกันโดยเลี่ยงการตากแดดในเวลาแดดจัดนานเกินไป รวมถึงทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF มากกว่า 15 สวมใส่เสื้อผ้าและใช้อุปกรณ์กันแดดที่เหมาะสม
ทั้งนี้ การดูแลตนเองให้มีพฤติกรรมสุขภาพที่ดี กินอาหารที่มีประโยชน์ สะอาดถูกสุขลักษณะ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ไม่เครียด นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รวมถึงการตรวจคัดกรองมะเร็ง สามารถลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งได้