นอกเหนือจากการออกกำลังกายและการควบคุมอาหาร ซึ่งถือเป็นวิธีหลักๆ สำหรับคนที่จะลดน้ำหนักแล้ว ยังมีปัจจัยใหญ่ๆ อีก 2 ปัจจัยที่เพื่อนๆ จะมองข้ามไม่ได้ หากต้องการไปถึงเป้าหมายของการลดน้ำหนักอย่างมีประสิทธิภาพ นั่นคือ
- การนอน
- ความเครียด
แล้วทั้ง 2 อย่างนี้ ส่งผลต่อการลดน้ำหนักอย่างไร? สดสวยมีคำตอบมาฝากกันในบทความนี้ค่ะ
การนอน
มีการศึกษาจำนวนมากแสดงให้เห็นว่า การนอนน้อยกว่า 5-6 ชั่วโมงต่อคืนมีความสัมพันธ์กับโรคอ้วนที่เพิ่มขึ้น โดยการวิจัยแสดงให้เห็นว่าการนอนหลับไม่เพียงพอหรือมีคุณภาพไม่ดี ทำให้กระบวนการที่ร่างกายเปลี่ยนแคลอรี่เป็นพลังงานที่เรียกว่าเมแทบอลิซึม มีประสิทธิภาพลดลง
เมื่อเมแทบอลิซึมมีประสิทธิภาพลดลง ร่างกายอาจเก็บพลังงานที่ไม่ได้ใช้เป็นไขมัน นอกจากนี้การนอนหลับไม่ดี ไม่ได้คุณภาพ สามารถเพิ่มการผลิตอินซูลินและคอร์ติซอลซึ่งช่วยกระตุ้นการสะสมไขมันได้อีกด้วย
และอีกหนึ่งข้อคือ การนอนหลับนั้นยังมีผลต่อการควบคุมฮอร์โมนเลปติน (Leptin) และ เกรลิน (Ghrelin) ที่ควบคุมความอยากอาหาร ซึ่งหากทำงานผิดปกติก็อาจส่งผลต่อความอยากอาหารที่เพิ่มมากขึ้นได้
ความเครียด
ความเครียดก่อให้เกิดการปล่อยฮอร์โมน เช่น อะดรีนาลีนและคอร์ติซอล ที่เริ่มลดความอยากอาหารซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการตอบสนองกลับของร่างกาย อย่างไรก็ตามเมื่อคนอยู่ภายใต้ความเครียดคงที่ คอร์ติซอลสามารถอยู่ในกระแสเลือดได้นานขึ้น ซึ่งจะเพิ่มความอยากอาหารและอาจนำไปสู่การกินมากขึ้น
คอร์ติซอลส่งสัญญาณความจำเป็นในการเติมเต็มร่างกายจากแหล่งพลังงานที่ต้องการเป็นหลัก นั่นคือ “คาร์โบไฮเดรต” โดยอินซูลินจะลำเลียงน้ำตาลจากคาร์โบไฮเดรตจากเลือดไปยังกล้ามเนื้อและสมอง หากเราไม่ได้ใช้น้ำตาลนี้ร่างกายจะเก็บมันไว้กลายเป็นไขมันสะสมค่ะ
ดังนั้น ทั้งสองปัจจัยนี้จึงเป็นสิ่งที่เพื่อนๆ มองข้ามไม่ได้ หากต้องการลดน้ำหนัก ต่อให้เราออกกำลังกายอย่างดี และคุมอาหารอย่างเคร่งครัด แต่ขาดสองข้อนี้ไป ก็อาจทำให้เป้าหมายมาถึงช้า หรืออาจไม่ได้ผลเลย