4 ข้อน่ารู้เกี่ยวกับกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ

0

ตลอดเดือนมิถุนายนนี้ มองไปทางไหนก็จะเต็มไปด้วยสีสันแห่งสายรุ้ง หลายบริษัทก็ปรับเปลี่ยนโลโก้ให้เป็นสีรุ้ง เห็นคนส่วนใหญ่อินกับ Pride Month หรือเดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ เราเลยขอร่วมสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ด้วยการให้ความรู้เกี่ยวกับกลุ่ม LGBTIQN+

Q : กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTIQN+ คือ?

A : กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTIQN+ คือ บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศวิถี (Sexuality) อัตลักษณ์ทางเพศ (Sexual Identity) วิถีทางเพศ (Sexual Orientation) ได้แก่ บุคคลรักเพศเดียวกัน เช่น หญิงรักหญิง (Lesbian) ชายรักชาย (Gay) และบุคคลรักได้ทั้งสองเพศ (Bisexual) นอกจากนี้ยังมีกลุ่มบุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเพศที่ไม่สอดคล้องกับเพศกำเนิด ได้แก่ บุคคลข้ามเพศ (Transgender) บุคคลที่มีความซับซ้อนในอัตลักษณ์และวิถีทางเพศ เช่น บุคคลที่มีเพศกำกวม (Intersex) รวมทั้งบุคคลที่ปฏิเสธอัตลักษณ์แบบทวิเพศ เช่น ผู้ที่ไม่นิยามเพศ (Queer) และ นอน–ไบนารี บุคคลที่ปฏิเสธการนิยามตนเองด้วยอัตลักษณ์ทางเพศที่วางอยู่บนฐานการแบ่งเพศเป็นสองขั้วตรงข้ามคือชายและหญิง (Non–Binary)

Q : บุคคลรักเพศเดียวกันและบุคคลรักได้ทั้งสองเพศ ถือเป็นโรคความผิดปกติทางจิตอย่างหนึ่ง?

A : หลังจากปี ค.ศ. 1990 องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้การเป็นบุคคลรักเพศเดียวกันและบุคคลรักได้ทั้งสองเพศไม่ถือว่าเป็นความผิดปกติทางจิตอีกต่อไป ในขณะที่สมาคมจิตเวชศาสตร์แห่งประเทศเทศสหรัฐอเมริกา (The American Psychiatric Association) ได้ถอดการเป็นผู้ความผิดทางจิตของบุคคลรักเพศเดียวกันและบุคคลรักได้ทั้งสองเพศออกจากคู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต (The Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders (DSM)) มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1973 ในปัจจุบันการเป็นบุคคลรักเพศเดียวกันและบุคคลรักได้ทั้งสองเพศเป็นเรื่องของรสนิยมและเพศวิถีที่แตกต่างหลากหลายเท่านั้นและไม่ถือว่าเป็นผู้มีความผิดปกติทางจิตอีกต่อไป

Q : กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ กับความเสี่ยงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์?

A : การมีเพศสัมพันธ์โดยป้องกันหรือขาดความรู้เกี่ยวกับโรคต่าง ๆ ย่อมนำมาซึ่งความเสี่ยงทางสุขภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่นิยมมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและการเป็นโรคร้ายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อเอชไอวี โรคซิฟิลิสและหนองใน นอกจากนี้ ในปัจจุบันมีเชื้อโรคใหม่ ๆ บางชนิด เช่น ไวรัสเอชพีวี (HPV: Human Papillomavirus) ซึ่งเชื้อโรคนี้ทำให้เกิดโรคมะเร็งได้ เช่น มะเร็งปากมดลูกในผู้หญิงและมะเร็งปากทวารหนักในผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก ส่วนการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างหญิงกับหญิง หากไม่ดูแลรักษาสุขอนามัยอาจทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี การติดเชื้อเอชไอวี เริมที่อวัยวะเพศ

Q : ทำอย่างไรให้กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ลดความเสี่ยงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์?

A : 1. สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์

2. ฉีดวัคซีน HPV หรือวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกซึ่งสามารถป้องกันมะเร็งปากทวารหนักได้ แนะนำให้ฉีดทั้งผู้หญิงและผู้ชายตั้งแต่อายุ 11 ปีขึ้นไปจนถึงอายุ 45 ปี

3. ใส่ใจเรื่องสุขอนามัยและความสะอาด เช่น ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งทั้งก่อนและหลังมีเพศสัมพันธ์, หลีกเลี่ยงการออรัลเซ็กส์ หากมีบาดแผลบริเวณปากหรือในปาก, ควรทำความสะอาดเซ็กส์ทอยทุกครั้งทั้งก่อนและหลังใช้งาน, หลีกเลี่ยงการไว้เล็บยาวขณะมีเพศสัมพันธ์ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดบาดแผล

4. ตรวจภายในเป็นประจำทุกปีหรือตามความเสี่ยง รวมถึงคัดกรองมะเร็งปากทวารหนัก

จะเพศใดไม่สำคัญ หากทุกคนยอมรับและให้เกียรติซึ่งกันและกัน แม้จะมีความแตกต่างก็สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *