เด็กเล็กฉีดวัคซีนลดลง เสี่ยงทำให้เกิดโรคหัดระบาด!

0

จากที่ทั่วโลกมีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้คนส่วนใหญ่เลือกที่จะออกจากบ้านให้น้อยลงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด ส่งผลให้พ่อ แม่ ผู้ปกครองหลายบ้านเลือกที่จะไม่พาลูกไปฉีดวัคซีน แม้จะเป็นโรคสำคัญที่ติดต่อได้ง่ายอย่าง “โรคหัด”

เมื่อความครอบคลุมการได้รับวัคซีนลดลง อาจก่อให้เกิดการระบาดของโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนขึ้นได้ เช่น โรคหัด โรคคอตีบ โรคไอกรน เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องกับที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กับศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ (CDC) ได้ออกประกาศเตือนทุกประเทศว่า การลดลงของการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด กำลังทำให้โรคหัดซึ่งเป็นโรคทางเดินหายใจที่ระบาดได้ง่าย กลายเป็นภัยคุกคามที่จะเกิดขึ้นในทุกภูมิภาค

โรคหัด (Measles) เป็นไข้ออกผื่น ที่พบได้ตลอดทั้งปี แต่มักมีอุบัติการณ์สูงในช่วงอากาศหนาวเย็น มักพบในเด็กเล็ก แต่ก็อาจพบในเด็กโตหรือในผู้ใหญ่ได้ เกิดจากเชื้อไวรัส ชนิดหนึ่ง มีชื่อว่า Measles ซึ่งเป็น RNA ไวรัส โดยเชื้อจะมีอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วย เมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อหัดจะมีระยะฟักตัวของโรคจนเกิดอาการ (ระยะก่อนออกผื่น) 8-12 วัน เฉลี่ยจากวันที่สัมผัสจนถึงมีผื่นเกิดขึ้นประมาณ 2 สัปดาห์

อาการของโรคแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะเริ่มต้นและระยะผื่น โดยระยะเริ่มต้น ได้แก่ มีไข้สูง อ่อนเพลีย ไอ ร่วมกับอาการตาแดง ผู้ป่วยจะมีอาการในระยะนี้ประมาณ 2-4 วัน ในระยะนี้ช่วงก่อนผื่นขึ้นอาจพบจุดขาว ๆ บนพื้นแดงที่บริเวณกระพุ้งแก้มเรียกว่า Koplik spot จากนั้นจะเข้าสู่ ระยะผื่น หลังจากมีไข้สูง ไอ ตาแดง 2-4 วัน  ผู้ป่วยก็จะเริ่มมีผื่นแดง ๆ  ขึ้น โดยเริ่มที่ศีรษะ บริเวณไรผม กระจายไปตามลำตัว ไปยังแขนขา ลักษณะผื่นช่วงแรกจะเป็นสีแดง ต่อมาจะกลายเป็นสีคล้ำอยู่รวมกันเป็นปื้น และยังมีไข้สูง ไอ ตาแดงอยู่ อาจมีต่อมน้ำเหลืองโตร่วมด้วย ระยะนี้จะอยู่ราว 3-4 วัน จากนั้นไข้จะลดลง ผื่นอาจอยู่ได้ถึง 1 สัปดาห์ ส่วนอาการไออาจอยู่ได้ถึง 2 สัปดาห์

ไวรัสโรคหัดติดต่อได้ง่ายมาก ผ่านได้ทั้งทางฝอยละอองขนาดเล็กที่ฟุ้งในอากาศและการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วย อาการแสดงของโรคหัดจะเริ่มจากไข้ ตาแดง ไอ ต่อมาผื่นแดงขึ้นกระจายทั่วตัว เนื่องจากโรคหัดเป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจที่เกิดการแพร่เชื้อได้ง่ายมากและจะเกิดผลแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ หากมีการติดเชื้อในกลุ่มเด็กเล็กหรือผู้ใหญ่

ในเด็กเล็กอาจมีภาวะปอดบวมแทรกซ้อน การรับวัคซีนโรคหัดเป็นการป้องกันที่ดีที่สุด

โดยในประเทศไทย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะเป็นผู้สนับสนุนวัคซีนหัดในเด็กเล็ก มีวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน ให้กับเด็กทุกคน โดยเริ่มฉีดเข็มแรกได้ตั้งแต่ อายุ 9 เดือนขึ้นไป และรับวัคซีนเข็มที่ 2 ได้เมื่ออายุ 1 ปีครึ่ง ซึ่งการได้รับวัคซีนครบสองเข็มจะป้องกันโรคหัดได้มากกว่าร้อยละ 97 และกรมควบคุมโรคจะเป็นผู้สนับสนุนวัคซีนหัดในผู้ใหญ่กลุ่มเสี่ยง ทั้งนี้ทุกกลุ่มเป้าหมายสามารถติดต่อขอรับบริการฉีดวัคซีนได้ที่โรงพยาบาลของรัฐใกล้บ้านโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ไม่อยากให้เจ้าตัวซนเสี่ยงโรคหัด โรคคอตีบ โรคไอกรน พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ต้องบุตรหลานมารับวัคซีนให้ครบตามกำหนด ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *