พาผู้สูงวัยในบ้านไปฉีดวัคซีน เสริมภูมิต้านทานป้องกัน “โรคงูสวัด”

0

เนื่องจากผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายลดลง ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อ เจ็บป่วยที่รุนแรง หรือมีโรคแทรกซ้อนง่ายกว่าวัยหนุ่มสาว ดังนั้น การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคในผู้สูงอายุ จึงมีความสำคัญ หนึ่งในวัคซีนที่ไม่ควรพลาด คือ วัคซีนโรคงูสวัด เนื่องจากเป็นโรคที่ผู้สูงอายุมีความเสี่ยง ทั้งยังมีความรุนแรงของโรคสูง

โรคงูสวัด เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสวาริเซลลา (varicella virus) ซึ่งเป็นเชื้อเดียวกับไวรัสที่ทำให้เกิดโรคสุกใส และเป็นไวรัสที่อยู่ในกลุ่มเดียวกับไวรัสเริม โดยที่ผู้ป่วยเมื่อเป็นโรคสุกใสแล้ว เมื่อหายจากโรค เชื้อไวรัสจะเข้าไปซ่อนในปมประสาท และจะถูกกระตุ้นเมื่อร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ (เช่น ผู้สูงอายุ) ซึ่งไวรัสจะมีการแบ่งตัวทำให้การปล่อยเชื้อไวรัสออกมาตามแนวเส้นประสาท จะมีอาการปวดแสบปวดร้อนที่ผิวหนังซึ่งถูกควบคุมโดยแนวเส้นประสาทนั้น ต่อมาจะมีผื่นแดงตามด้วยตุ่มน้ำในลักษณะเป็นกลุ่มเรียงตัวตามแนวเส้นประสาท โดยที่ตุ่มน้ำสามารถกลายเป็นตุ่มหนองและแตกเป็นแผล หรือเป็นสะเก็ดตามมาได้ หลังจากอาการทางผิวหนังหายแล้ว อาจมีอาการปวดเรื้อรังในผู้ป่วยบางราย

สำหรับอาการแทรกซ้อนของงูสวัด คือ ปวดเส้นประสาท สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งก่อนและระหว่างที่ยังมีผื่น หรือหลังจากผื่นหายแล้ว อาการปวดมักรุนแรงและมีหลายลักษณะ เช่น ปวดแสบร้อน ปวดเหมือนเข็มแทง ปวดเหมือนถูกมีดกรีด เป็นต้น โดยระดับความรุนแรงของอาการปวดมีความสัมพันธ์กับอายุของผู้ป่วย คือ ผู้ป่วยยิ่งอายุมากขึ้น โดยเฉพาะอายุมากกว่า 60 ปี ยิ่งเสี่ยงต่อการปวดรุนแรง และอาจมีผลต่อคุณภาพชีวิต

โรคงูสวัดเป็นโรคที่มีการติดต่อทางการหายใจเอาเชื้อไวรัส หรือสัมผัสสะเก็ดน้ำเหลืองที่แผล เป็นโรคที่ติดต่อได้ง่ายเหมือนโรคสุกใส แต่ผู้ที่เคยเป็นโรคสุกใสแล้วจะมีภูมิต้านทานต่อโรคงูสวัดเพราะเป็นเชื้อไวรัสตัวเดียวกัน การได้รับเชื้อไวรัสเพิ่มเติมเป็นการกระตุ้นภูมิต้านทานเทียบได้กับการได้รับวัคซีน

โรคงูสวัดป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน (Zoster vaccine) การฉีดวัคซีน zoster จะใช้ในผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 60 ปี สามารถกระตุ้นภูมิต้านทานในผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยงอื่น ๆ ให้สูงขึ้นเหมือนกับภูมิต้านทานที่สูงขึ้นภายหลังการป่วยเป็นงูสวัด ทั้งนี้ มีการวิจัยประสิทธิภาพของวัคซีนโรคงูสวัดในผู้ที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป พบว่ามีประสิทธิภาพลดการป่วยเป็นงูสวัดร้อยละ 51.3และลดอุบัติการณ์ของอาการปวดหลังจากผื่นงูสวัดหายแล้วร้อยละ 66.5 โดยวัคซีนนี้ฉีดเพียงแค่เข็มเดียวเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องกระตุ้นซ้ำเหมือนอย่างวัคซีนบางชนิด จึงไม่มีความยุ่งยาก

นอกจากป้องกันตัวด้วยการฉีดวัคซีนโรคงูสวัดแล้ว ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อ และดูแลสุขภาพกายและใจให้แข็งแรงอยู่เสมอ ส่วนการรักษาโรคงูสวัดนั้น มีทั้งการรักษาตามอาการ และการรักษาร่วมกับการใช้ยาต้านไวรัสเพื่อช่วยให้การหายของโรคเร็วขึ้น และให้ยาแก้ปวดปลายเส้นประสาท เพื่อป้องกันและลดความทุกข์ทรมานจากโรคงูสวัด หากสงสัยว่าเป็นโรคงูสวัด แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ เนื่องจากการรักษาในช่วงแรกของโรคมีผลการรักษาที่ดีกว่า

ไม่อยากให้ผู้ใหญ่ในบ้านที่คุณรักเสี่ยงต่อโรคงูสวัด และไม่ต้องพบเจอกับความทรมานจากอาการปวดแสบปวดร้อนของโรคนี้ อย่าลืมหาเวลาพาท่านไปฉีดวัคซีนงูสวัด

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *