เพราะผิวของเด็กวัยทารกได้ชื่อว่าเป็นผิวที่ค่อนข้างอ่อนนุ่มและมีชั้นผิวที่บอบบางอย่างมาก จึงเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาผิวได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นด้วยสาเหตุจากความผิดปกติของร่างกาย หรือจากการที่พ่อ แม่ ผู้ปกครองดูแลผิวให้เบบี๋ได้ไม่ดีพอ หนึ่งในปัญหาผิวที่เกิดกับเจ้าตัวเล็ก คือ โรคขนคุด
โรคขนคุด (Keratosis Pilaris) เป็นภาวะทางผิวหนังที่มีความผิดปกติของการสร้างเซลล์ผิวหนัง ส่งผลให้บริเวณรูขุมขนมีการอุดตันด้วยสารเคราติน (Keratin) โดยเคราตินเป็นโปรตีนที่เซลล์ผิวหนังสร้างขึ้นมาเพื่อป้องกันการการติดเชื้อ หรือป้องกันสารอันตรายต่าง ๆ ที่ผิวหนัง ซึ่งการสะสมของเคราตินทำให้เกิดการอุดตันที่ทางออกของรูขุมขน จึงทำให้ขนไม่สามารถงอกทะลุรูขุมขนออกมาได้ และเกิดเป็นขนคุดอยู่ใต้ผิวหนัง ผิวแห้ง เป็นปื้นหยาบ และเป็นตุ่มนูนที่รูขุมขน เวลาลูบไปที่บริเวณดังกล่าวจะให้ความรู้สึกสาก ๆ ขนคุดมักเกิดขึ้นบริเวณแขนส่วนบน ต้นขา หลัง ก้นหรือแก้ม
ขนคุดสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่จะพบมากในเด็กเล็ก โดยเฉพาะทารกก่อนอายุ 2 ขวบ รวมถึงวัยรุ่น แม้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าอะไรเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการสะสมของเคราติน แต่สันนิษฐานว่าอาจเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์ หรือภาวะโรคทางผิวหนัง เช่น โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis) โรคผิวหนังเกล็ดปลา/ ผิวหนังแห้งมากจนตกสะเก็ด (Ichthyosis) นอกจากนี้ผู้ที่มีปัญหาผิวแห้ง มักมีโอกาสเกิดขนคุดได้มาก
อาการของโรคขนคุด
-มีตุ่มนูนเล็ก ๆ ขึ้นตามผิวหนัง สีที่พบมีได้ตั้งแต่สีเดียวกับผิวปกติ สีขาว สีแดง ไปจนถึงสีดำได้ในคนผิวดำ
-บริเวณผิวหนังที่เป็นตุ่มขนคุด จะมีผิวที่แห้งและหยาบกร้าน
-เมื่อลูบสัมผัสที่ผิวหนังที่มีขนคุด จะให้ความรู้สึกสาก ๆ คล้ายกระดาษทราย
-ขนคุดมักเกิดขึ้นบริเวณแขนส่วนบน ต้นขา หลัง ก้นหรือแก้ม
-ตามปกติแล้วขนคุดจะไม่ได้ทำให้รู้สึกคันหรือเจ็บปวด อีกทั้งยังสามารถหายเองได้เมื่อโตขึ้นอีกด้วย
-เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว ที่อากาศเย็นและแห้ง มีความชื้นในอากาศน้อย มักจะทำให้อาการขนคุดแย่ลงกว่าเดิม
การรักษาโรคขนคุด
1. หลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้ผิวแห้ง เช่น การอาบน้ำที่มีอุณหภูมิสูงมากเกินไปหรือการอาบน้ำเป็นเวลานาน
2. หลีกเลี่ยงการขัดผิวที่รุนแรงไม่ว่าจะด้วยฟองน้ำ หรือใยขัดตัวใด ๆ เนื่องจากอาจทำให้เกิดการระคายเคืองมากขึ้น
3. ทาโลชั่นให้ความชุ่มชื้นหลังอาบน้ำเช้า-เย็น และทาได้บ่อยขึ้นอีกบริเวณผิวที่แห้ง โดยโลชันควรมีส่วนประกอบของสารให้ความชุ่มชื้นและผลัดเซลล์ผิวอุดตัน (Keratolytic) เช่น 20% Urea, Lactic acid, Alpha hydroxyl acid (AHA), Salicylic acid, Glycolic acid ทาเพื่อให้ผิวเบบี๋อ่อนนุ่มชุ่มชื้นขึ้น ซึ่งจะทำให้อาการของขนแปรงทารกดีขึ้นได้
4. หากเบบี๋มีอาการคัน สามารถใช้ยาประเภทคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดใช้เฉพาะที่อ่อนโยน ช่วยบรรเทาอาการคันได้
อย่างไรก็ตาม หากพ่อ แม่ ผู้ปกครอง สังเกตเห็นผิวเบบี๋มีผิวหนังหรือขนที่ขึ้นในลักษณะที่ดูผิดปกติ ควรรีบพาลูกน้อยไปพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยและรักษา เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคผิวหนังที่อันตรายได้