อาหารสำหรับเด็กอายุ 3-5 ปี เลือกอย่างไรให้ดีต่อสุขภาพ

0

เด็กอายุ 3-5 ปี มีความต้องการสารอาหารต่าง ๆ เพิ่มขึ้น โดยทั่วไปในช่วงอายุนี้ เด็กจะมีอัตราการเพิ่มน้ำหนัก 2-3 กิโลกรัมต่อปี และส่วนสูงเพิ่ม 5-8 เซนติเมตรต่อปี เป็นวัยที่มีกิจกรรมการเคลื่อนไหวและการเล่นมากขึ้น ร่างกายจึงต้องการสารอาหารเพิ่มขึ้น เพื่อให้เติบโตแข็งแรงสมวัยพ่อแม่ต้องใส่ใจการเลือกอาหารเด็ก

1. ใน 1 วัน เด็กควรได้รับอาหารหลัก 3 มื้อ โดย 1 มื้อ ควรประกอบด้วยข้าวกล้องหรือข้าวสวยนิ่มๆ 1-1 ½ ทัพพี เนื้อสัตว์ต่างๆ 1 ช้อนกินข้าวสลับกับไข่หรืออาหารทะเล ผักใบเขียวต่าง ๆ มื้อละ ¾-1 ทัพพี ผลไม้มื้อละ 1 ส่วน [ผลไม้ 1 ส่วน ให้พลังงาน 60 กิโลแคลอรี ได้แก่ ส้มขนาดกลาง 2 ผล หรือมะละกอสุก (คำ) 8 ชิ้น หรือกล้วยน้ำว้าขนาดกลาง 1 ผล ฯลฯ] ควรให้เด็กดื่มนมรสจืดวันละ 2–3 แก้ว (400-600 มิลลิลิตร)

2. เด็กเล็กมักปฏิเสธการกินผัก ด้วยเหตุผลว่า ผักมีรสขมหรือกลิ่นไม่ชวนกิน ดังนั้น ผู้เลี้ยงดูเด็กอาจเริ่มจากการเลือกผักที่ไม่มีกลิ่นฉุน เช่น ผักกาดขาว ผักบุ้ง ฟักทอง ตำลึง ฯลฯ 1 ช้อนปรุงอาหารให้เด็ก เมื่อเด็กกินได้ดีจึงค่อยเพิ่มปริมาณ บางครั้งอาจจัดอาหารจานผักให้มีสีสันหรือเป็นรูปต่าง ๆ เพื่อดึงดูดความสนใจและกระตุ้นให้เด็กอยากกินผักมากขึ้น ผักที่ใช้เตรียมอาหารเด็กควรเป็นผักสดต่าง ๆ ที่หาได้ในท้องถิ่น ล้างผักให้สะอาดและถูกวิธี

3. ปรุงอาหารที่รสชาติไม่จัดจ้านและปรุงอาหารด้วยวิธีการต้ม นึ่ง อบแทนการทอดบ้าง ก็จะช่วยให้เด็กได้รับไขมันไม่มากเกินไป อาหารที่ปรุงโดยการต้มควรให้นุ่มและตัดอาหารเป็นชิ้นเล็ก ๆ พอเหมาะกับปากเด็ก

4. ไม่ให้ขนมกรุบกรอบ ขนมหวาน และน้ำหวานทุกชนิดแก่เด็กก่อนกินอาหารมื้อหลัก เพราะจะทำให้เด็กไม่อยากกินอาหาร ขนมหวานและอาหารที่มีความเหนียวนุ่มติดฟันมักจะก่อให้ เกิดปัญหาฟันผุได้ง่าย

5. อาหารว่างระหว่างมื้ออาหาร เน้นว่าควรให้เป็นผลไม้แทนขนมกรุบกรอบและขนมทอดต่าง ๆ โดยทั่วไปสามารถจัดอาหารว่างให้ได้ 2 มื้อ ซึ่งรวมแล้วให้พลังงานไม่เกินร้อยละ 20 ของพลังงานจากอาหารทั้งหมด หรือ 200-250 กิโลแคลอรีต่อวัน เช่น มื้อว่างเช้าให้นมจืด 1 แก้ว และขนมกล้วย 1 ชิ้น หรือนมจืด 1 แก้ว และผลไม้ ฯลฯ

6. การที่เด็กได้วิ่งเล่นหรือมีกิจกรรมต่าง ๆ ทำให้เด็กอยากอาหารเพิ่ม ขึ้น ขณะเดียวกันเด็กวัยนี้จะเรียนรู้สีต่างๆ จึงมักนำเรื่องสีมาสัมพันธ์กับเรื่องอาหาร ดังนั้น เด็กจึงชอบอาหารที่มีสีสันสดใส เช่น แตงโม แครอต ส้ม ไข่ มากกว่าอาหารที่ไม่มีสีสัน ดังนั้น ผู้ดูแลเด็กจึงควรจัดอาหารให้หลากหลาย โดยเฉพาะผัก ผลไม้ เพื่อให้เด็กได้คุ้นเคยและบริโภคได้ดี

7. บางครั้งอาจพบว่าเด็กอายุ 3-5 ปี สนใจการเล่นมากกว่าการกิน และกินอาหารไม่เป็นเวลา จึงเป็นอุปสรรคต่อการดูแลของผู้เลี้ยงดู ซึ่งมักใช้วิธีบังคับให้เด็กกินอาหารหรือมีข้อต่อรองโดยให้ขนมหวานหรือลูกกวาดเป็นรางวัลแลกเปลี่ยนกับการกินอาหารของเด็ก วิธีแก้ไข คือ งดให้ขนมหรือเครื่องดื่มหวาน ๆ ก่อนมื้ออาหารหลัก และเมื่อถึงเวลาอาหารมื้อหลัก ควรให้เด็กได้นั่งร่วมกับเด็กอื่นหรือผู้ใหญ่เพื่อกินอาหารพร้อม ๆ กัน ทั้งนี้ยังเป็นการฝึกวินัยในการกินอาหารด้วย

8. ฝึกสุขนิสัยโดยสอนให้เด็กล้างมือทุกครั้งก่อนกินอาหารแต่ละมื้อ สอนให้เด็กกินอาหารพอประมาณ การตักข้าวและกับข้าวควรตักพอกินและกินให้หมดจาน ถ้าไม่อิ่มจึงค่อยตักเพิ่มและเมื่อกินอาหารเสร็จแล้ว สอนให้เด็กนำภาชนะไปเก็บหรือล้างให้สะอาดและแปรงฟัน

พ่อแม่และผู้เลี้ยงดูเด็กต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพและปริมาณอาหารต่าง ๆ ที่เตรียมให้เด็ก เลือกใช้วัตถุดิบอาหารที่มีคุณภาพและวิธีการปรุงอาหารที่เหมาะสม เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงของเจ้าตัวซน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *