ทำอย่างไร? เมื่ออยู่ร่วมบ้านกับผู้ป่วยโควิด โดยไม่มีห้องแยก

0

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดในบ้านเรายังเป็นอะไรที่ปล่อยผ่านไม่ได้ โดยโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ทำให้มีผู้ติดเชื้อสูงมากกว่าหมื่นรายต่อวัน แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง ผู้ป่วยที่มีอาการน้อยสามารถรักษาตัวที่บ้านได้ แต่ปัญหาที่ตามมา คือ จะกักตัวอย่างไร เมื่ออยู่ร่วมบ้านกับผู้ป่วยโควิด โดยไม่มีห้องแยก

สำหรับผู้ที่เข้าเกณฑ์ในการทำ Home Isolation ได้แก่ ผู้ติดเชื้อที่มีอาการเล็กน้อย หรือไม่แสดงอาการ , มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง อาจมีโรคร่วมที่รักษา และสามารถควบคุมได้ตามดุลยพินิจของแพทย์ , มีอายุน้อยกว่า 75 ปี และยินยอมแยกตัวในที่พักของตนเอง ทั้งนี้ แนวทางการดูแลผู้ป่วยโควิดที่ทำ Home Isolation อาจปรับได้ตามดุลยพินิจของแพทย์ โดยพิจารณาเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วยและด้านการควบคุมโรคประกอบกัน

ทั้งนี้ สิ่งสำคัญ คือ ผู้ป่วยต้องหมั่นสังเกตอาการของตนเอง วัดอุณหภูมิและวัดค่าออกซิเจนปลายนิ้ว 2–3 ครั้งต่อวัน หากมีอาการแย่ลง คือ มีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ เช่น ไข้สูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส หายใจ หอบเหนื่อย วัดค่าออกซิเจนปลายนิ้วได้น้อยกว่า 94% หรือไม่สามารถปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ ให้รีบโทรติดต่อโรงพยาบาลที่รับการรักษาอยู่

หากมีเหตุจำเป็นที่จะต้องเดินทางมาโรงพยาบาล แนะนำให้ใช้รถยนต์ส่วนตัวหรือรถที่โรงพยาบาลมารับ ไม่ควรใช้รถโดยสารสาธารณะ และต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยอยู่ตลอดเวลา หากใช้รถยนต์ส่วนตัวขอให้ยึดแนวทางป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัด จัดให้ผู้ป่วยนั่งในแถวหลัง เปิดกระจกในรถเพื่อควบคุมทิศทางลมให้ไหลออกไปนอกรถ เป็นการลดความเสี่ยงในการหมุนวนของอากาศ เพื่อความปลอดภัยของผู้ที่เดินทางไปด้วย

แนวทางการปฏิบัติ กรณีที่ไม่มีห้องแยกให้กักตัวในบ้าน แต่จำเป็นต้องอาศัยอยู่ร่วมกันกับคนในครอบครัว

1. ทุกคนที่อยู่ในห้องหรือในบ้าน ต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา และยึดแนวทางการป้องกันตนเองตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

2. แบ่งเขตพื้นที่ส่วนผู้ติดเชื้อและส่วนผู้ที่ไม่ติดเชื้อแยกออกจากกันอย่างชัดเจน

3. จัดหาพัดลมวางไว้ในห้องและเปิดตลอดเวลา เพื่อเป็นการกำหนดทิศทางลมให้ไปออกที่หน้าต่างฝั่งที่ใกล้กับส่วนผู้ติดเชื้อ ซึ่งจะทำให้พื้นที่ของส่วนผู้ที่ไม่ติดเชื้อ ปลอดภัยเนื่องจากอยู่เหนือลม โดยมีพื้นที่กำหนดพิเศษที่จะให้ผู้ที่เป็นสามารถผ่านเข้ามาได้เฉพาะกรณีวางของหรือออกจากห้องเท่านั้น

4. กำหนดพื้นที่พิเศษสำหรับการจัดการกับสิ่งของหรือเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่ใช้แล้ว โดยขอให้ผู้ป่วยนำของใส่ในถุง พ่นด้วยแอลกอฮอล์ข้างในก่อนปิดปากถุง เมื่อวางแล้วให้พ่นแอลกอฮอล์ซ้ำที่ตรงปากถุงด้านนอก ส่วนผู้ที่จะนำไปจัดการต่อจะต้องใส่ถุงมือ โดยพ่นแอลกอฮอล์ที่ด้านนอกถุงอีกครั้ง เมื่อนำถุงออกมาจากพื้นที่แล้ว ให้เปิดปากถุงแล้วแช่ด้วยน้ำสบู่หรือน้ำผสมผงซักฟอกประมาณ 10-15 นาที ก่อนที่จะนำไปทำความสะอาดตามปกติ

5. เมื่อมีการสัมผัสสิ่งของที่ใช้ร่วมกัน ขอให้มีการปฏิบัติตัวป้องกันตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยยึดหลัก “ไม่แพร่เชื้อ-ไม่ติดเชื้อ” ทั้งนี้ หากผู้พักอาศัยหรือผู้ดูแลมีอาการผิดปกติควรรีบตรวจหาเชื้อทันที

อย่าคิดว่าโอมิครอนไม่อันตรายจนไม่ใส่ใจป้องกันตัว เพราะแม้จะหายป่วยแล้ว แต่เชื้อโควิด-19 อาจทิ้งร่องรอยความเสียหายในอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ทำให้อวัยวะที่เกิดความเสียหายนั้นไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *