อันตราย! ไอกรนในเด็กอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต

0

ถึงแม้โรคไอกรนจะไม่ได้พบมากในปัจจุบัน แต่โรคนี้มีการระบาดเป็นระยะ ส่งผลให้เกิดอันตรายได้ โดยเฉพาะในเด็กที่ไม่ได้รับวัคซีน หรือเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี โดยโรคไอกรนในทารกและเด็กเล็กจะมีความรุนแรงมาก อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อชีวิตได้ เช่น ภาวะหยุดหายใจชั่วคราว อาการชักอย่างรุนแรง เป็นต้น

โรคไอกรน (Pertussis) เป็นโรคติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจ มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย Bordetella pertussis ทำให้มีการอักเสบของเยื่อบุทางเดินหายใจ ติดต่อง่ายจากการไอ จาม สัมผัสกับสารคัดหลั่งและเครื่องใช้ของผู้ป่วย ส่วนใหญ่เด็กจะติดเชื้อมาจากคนในครอบครัว เกิดขึ้นได้ตั้งแต่ทารกแรกเกิดที่ยังไม่ได้รับภูมิคุ้มกัน หรือในคนที่ไม่ได้รับภูมิคุ้มกันมาก่อน ในวัยผู้ใหญ่เมื่อติดเชื้อนี้แล้วอาจไม่มีอาการ แต่สามารถแพร่เชื้อไปให้ผู้อื่นได้ โรคนี้พบได้บ่อย ในเด็กที่ยังไม่ได้รับวัคซีนหรือรับแล้วแต่ยังไม่ครบ ซึ่งอาการของโรคไอกรนในเด็กอาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

หลังจากรับเชื้อประมาณ 6-20 วัน ผู้ป่วยจะมีไข้ต่ำ ๆ มีน้ำมูกและไอต่อเนื่องประมาณ 1 สัปดาห์ จากนั้นไอซ้อน ๆ ติดๆ กัน 5-10 ครั้งหรือมากกว่านั้น จนเด็กหายใจไม่ทัน จึงหยุดไอและมีอาการหายใจเข้าลึก ๆ เป็นเสียง วู๊ป (Whooping cough) สลับกันไปกับการไอเป็นชุด ๆ อาการดังกล่าวอาจเป็นเรื้อรังนาน 2 – 3 เดือน ทั้งนี้ส่วนใหญ่เด็กจะได้รับเชื้อจากผู้ใหญ่ที่ป่วยและมีอาการไอ ซึ่งผู้ใหญ่มักไม่ไปพบแพทย์ เนื่องจากอาการไม่รุนแรง ทำให้แพร่เชื้อไปยังเด็กที่ในที่สุด

โรคแทรกซ้อน

1. โรคแทรกซ้อนทางระบบทางเดินหายใจ ที่พบบ่อย คือ ปอดอักเสบซึ่งเป็นสาเหตุของการตายที่สำคัญของโรคไอกรนในเด็กเล็กโรคในปอดที่อาจพบได้อีกจะเกิดจากการมีเสมหะเหนียวไปอุดในหลอดลมและถุงลม ทำให้เกิดภาวะปอดแฟบ

2. จากการไอมาก ๆ ทำให้มีเลือดออกในเยื่อบุตา มีจุดจ้ำเลือดออก (petechiae) ที่หน้าและในสมอง

3. ระบบประสาทอาจมีอาการชัก พบบ่อยในเด็กเล็ก เนื่องจากขาดเลือดไปเลี้ยงสมองในขณะที่ไอถี่ ๆ และอาการชักอาจเกิดจากมีเลือดออกในสมอง

ในส่วนของการรักษาอาการไอกรน การใช้ยาปฏิชีวนะจะช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ โดยเฉพาะถ้าให้ในระยะแรก แต่ถ้าให้หลังจากผู้ป่วยมีอาการไอแล้วการให้ยาจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความรุนแรงของโรคได้แต่จะสามารถฆ่าเชื้อโรคที่อาจจะยังมีอยู่ให้หมดไปได้ในระยะ 3-4 วันเป็นการลดการแพร่กระจายของเชื้อได้ แต่ก็ยังแนะนําให้ใช้ยาเพื่อลดการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น ยาที่แนะนําให้ใช้ได้ ได้แก่ erythromycin, azithromycin หรือ clarithromycin  ซึ่งยาเหล่านี้สามารถใช้ได้ทั้งเพื่อการรักษาและการป้องกันในผู้ที่สัมผัสกับผู้ป่วยที่เป็นโรคไอกรน นอกจากนี้ ควรให้เด็กได้พักผ่อน ดื่มน้ำอุ่น อยู่ในห้องที่มีอากาศถ่ายเทได้ดีหลีกเลี่ยงสาเหตุที่จะทำให้เด็กไอมากขึ้น เช่น การออกแรง ฝุ่นละออง ควันไฟ ควันบุหรี่ ฯลฯ

วัคซีนไอกรนเป็นวัคซีนพื้นฐานที่เด็กทุกคนจำเป็นต้องได้รับ เนื่องจากโรคเหล่านี้เป็นโรคร้ายแรง โดยเฉพาะหากเกิดขึ้นกับเด็กเล็ก ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้น ผู้ปกครองต้องพาบุตรหลานที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปี ไปรับวัคซีนให้ครบตามเกณฑ์ที่กำหนด คือ อายุ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน 1 ปีครึ่ง และฉีดเข็มกระตุ้นเมื่ออายุ 4 ปี สำหรับหญิงตั้งครรภ์ควรไปรับวัคซีนไอกรน ตั้งแต่อายุครรภ์ที่ 27 – 36 สัปดาห์ นอกจากนี้ผู้ใหญ่ที่อยู่ในบ้านที่มีเด็กเล็กควรไปรับวัคซีนเช่นกัน เพื่อป้องกันการเกิดโรคในผู้ใหญ่แล้วแพร่เชื้อต่อไปยังเด็กในครอบครัว

โรคไอกรนนี้จะมีอันตรายและอัตราการตายสูงในเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี หรือเด็กที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกัน จึงต้องพาเด็กไปรับวัคซีนตั้งแต่อายุ 2 เดือน ซึ่งวัคซีนไอกรนจะรวมอยู่กับวัคซีนคอ ตีบ และบาดทะยัก

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *