รู้จัก EF และปัจจัยที่ส่งผลต่อการพัฒนา EF ในวัยทารก

0

เมื่อพูดถึงคนที่ประสบความสำเร็จ ส่วนใหญ่มักมีคุณลักษณะสำคัญ เช่น คิดเป็น ทำงานเป็น เรียนรู้เป็น วิเคราะห์เป็น แก้ปัญหาเป็น อยู่กับคนอื่นเป็น มีความสุขเป็น มีเป้าหมาย มีการวางแผน มีความมุ่งมั่น รู้จักควบคุมอารมณ์ และที่หลายคนไม่ทราบคือ ทักษะเหล่านี้สามารถพัฒนาได้ตั้งแต่วัยทารก

ทักษะสมอง Executive Functions (EF) คือ ความสามารถในการกำกับความคิด อารมณ์ และพฤติกรรม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ สมองส่วนนี้ตั้งอยู่บริเวณสมองส่วน Prefrontal Cortex ซึ่งเป็นเสมือนศูนย์บัญชาการสมอง ควบคุมการทำงานของสมองหลายส่วนให้ทำงานเชื่อมประสานกัน ทำให้ประสบการณ์ที่เราได้รับผ่านทางประสาทสัมผัสต่าง ๆ เข้าสู่สมอง เกิดการนำไปวิเคราะห์ แปลความหมาย และสรุปเพื่อให้เกิดการตัดสินใจ การตอบรับกับสถานการณ์นั้น ๆ

ช่วงเวลาในการสร้างพื้นฐานทักษะสมอง EF คือช่วงวัยแรกเริ่มของชีวิต ประสบการณ์ในช่วงแรกเริ่มของชีวิตจะกำหนดทักษะสมอง EF ของเด็กคนนั้นเมื่อโตและเป็นผู้ใหญ่ การสร้างพื้นฐานทักษะสมอง EF ที่แข็งแรงในช่วงแรกของชีวิต จะส่งผลต่อทักษะสมอง EF ไปตลอดชีวิต หรืออาจพูดได้ว่าหากเริ่มพัฒนาทักษะสมอง EF เมื่อเด็กโตแล้วอาจจะสายไป

การปูพื้นฐานทักษะสมอง EF ที่ดีสามารถเริ่มได้ตั้งแต่ในครรภ์มารดา นับตั้งแต่ปฏิสนธิเลยทีเดียว ในช่วงที่เป็นทารกในครรภ์ สมองของลูกมีการก่อรูปอย่างรวดเร็วมาก ดังนั้น หากพ่อแม่มีความรู้เกี่ยวกับทักษะสมอง EF ก็จะช่วยดูแลให้การสร้างสมองของลูกในครรภ์เป็นไปด้วยดี ลูกมีสมองที่สมบูรณ์แบบ เมื่อเกิดมาพร้อมจะเรียนรู้และพัฒนา

ในวัยต้นของชีวิตนี้ ทักษะสมอง EF ของลูกยังไม่ปรากฏชัดเจนเหมือนในเด็กโต แต่เป็นช่วงเตรียมความพร้อมให้ลูกมีพัฒนาการทุกด้าน เพื่อการพัฒนาด้านการคิด และการควบคุมอารมณ์ของตนเองในช่วงวัยถัดไป อาจกล่าวได้ว่า เด็กวัยแรกเกิดถึง 3 ปี พ่อแม่เป็นหลักในการเลี้ยงดูพ่อแม่จึงเป็นคนสำคัญที่สุดในการพัฒนาทักษะสมอง EF ของลูก

ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเจริญพัฒนาของทักษะสมอง EF แบ่งออกเป็น 2 ปัจจัยหลัก คือ

1. ปัจจัยตามธรรมชาติ (Nature) ได้แก่

1.1 พันธุกรรม

1.2 ความแข็งแรง ความปกติของสรีระและสมองตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา การตั้งครรภ์เป็นไปด้วยดี ไม่ได้รับปัจจัยเสี่ยงที่กระทบต่อการก่อร่างสร้างสมอง เช่น ความเครียดหรือการขาดสารอาหารที่สำคัญ แต่ได้รับปัจจัยเสริมโดยพ่อแม่พยายามสื่อสารสร้างความรักความผูกพันกับลูกในครรภ์

1.3 พื้นอารมณ์หรือลักษณะนิสัยของเด็กแต่ละคน

2. ปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม (Nurture) ได้แก่

การเลี้ยงดูของพ่อแม่ การตอบสนองความต้องการพื้นฐานทางร่างกายและจิตใจ การจัดสิ่งแวดล้อมและมีวิธีการดูแลเด็กที่เหมาะสมกับพัฒนาการเด็กพ่อแม่มีทักษะสมอง EF ในการดูแลเด็ก

ย้ำอีกครั้ง การสร้างพื้นฐานทักษะสมอง EF ให้ลูกหลานตั้งแต่แรกเริ่มของชีวิตเท่ากับเป็นการสร้างรากฐานที่แข็งแรงให้กับลูกหลานไปตลอดชีวิต

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *