เคล็ดลับการให้ยาเบบี๋ พร้อมข้อควรระวังเมื่อใช้ยากับเด็ก

0

เมื่อลูกน้อยเจ็บป่วยหรือไม่สบายอาจต้องกินยาเพื่อรักษา อย่างไรก็ตาม เด็กส่วนใหญ่มักไม่ชอบกินยา อีกทั้งเจ้าตัวเล็กยังไม่เข้าใจเหตุผลของการกินยา การให้ยาเบบี๋จึงเป็นงานยากสำหรับพ่อแม่ เพื่อให้การให้ยาเด็กมีประสิทธิภาพและได้ผลมากยิ่งขึ้น นี่คือ เคล็ดลับการให้ยาเด็ก พร้อมข้อควรระวังเมื่อใช้ยากับเด็ก

เคล็ดลับการให้ยาเด็ก

1. ต้องใจเย็นและมีความอดทน เพราะโดยธรรมชาติของเด็กส่วนใหญ่มักไม่ชอบกินยา ควรพยายามหว่านล้อมและชักจูงเด็กมากกว่าที่จะใช้วิธีบังคับ เพราะยิ่งจะทำให้ให้เด็กกินยา ยากยิ่งขึ้น

2. ไม่ควรบีบจมูกแล้วกรอกยาใส่ปากเด็กและไม่ควรป้อนยาให้เด็กขณะที่เด็กกำลังร้องหรือดิ้น เพราะนอกจากจะทำให้เด็ก สำลักแล้ว ยังส่งผลทางด้านจิตใจต่อเด็กด้วย

3. หากยามีรสชาติไม่ดีหรือมีกลิ่นไม่น่ารับประทาน ควรผสมน้ำเชื่อมเพื่อเพิ่มรสชาติที่ดี ทำให้เด็กกินยาได้ง่ายขึ้น

4. ไม่ควรใส่ยาลงไปในขวดนมเพื่อให้เด็กได้รับยาจากการดูดนม เพราะถ้าเด็กดูดนมไม่หมด จะทำให้เด็กได้รับยาไม่ครบตามจำนวนที่ควรจะเป็น นอกจากนั้นยาบางชนิดอาจทำให้รสชาดของนมเสียไป อาจส่งผลให้เด็กไม่อยากกินนมอีกด้วย

5. ไม่ควรให้ยาพร้อมกับอาหารที่จำเป็นต่อเด็ก เพราะจะทำให้เด็กปฏิเสธอาหารเหล่านั้นในภายหลัง

6. ใช้อุปกรณ์มาตรฐานในการตวงยาให้เด็ก ไม่ควรใช้ช้อนทานข้าวหรือช้อนชงกาแฟที่ใช้ในครัวเพราะจะทำให้ได้ปริมาณยาที่ไม่ถูกต้อง และขนาดมาตรฐานในการตวงยา คือ 1 ช้อนชา เท่ากับ 5 มิลลิลิตร และ 1 ช้อนโต๊ะ เท่ากับ 15 มิลลิลิตร

ข้อควรระวังเมื่อใช้ยากับเด็ก

1. ยาลดไข้ ที่นิยมให้เด็กกินก็คือ พาราเซตามอล โดยให้เด็กกินยาทุก 4-6 ชั่วโมงจนไข้ลด แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน หรือมีไข้สูงมาก ควรไปพบแพทย์ ห้ามเปลี่ยนไปใช้ยาแอสไพริน หรือไอบูโปรเฟน เพราะหากเด็กเป็นไข้เลือดออกจะทำให้เกิดอันตรายได้ และยาพาราเซตามอล ไม่ควรกินยาติดต่อกันเกิน 5 วัน เพราะอาจมีผลเสียต่อตับได้ หากจำเป็นต้องใช้ยาลดไข้แอสไพริน หรือไอบูโปรเฟน ควรให้กินยาหลังรับประทานอาหารทันที เนื่องจากยานี้ระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร

2. ยาแก้ไอ ไม่ควรนำยาแก้ไอของผู้ใหญ่มาให้เด็กกิน เพราะยาบางชนิดอาจจะผสมแอลกอฮอล์ หรือยาบางตัวอาจมีฤทธิ์กดศูนย์กลางการหายใจ อาจทำให้เด็กหยุดหายใจจนเสียชีวิตได้

3. ยาแก้ท้องเสีย ไม่ควรให้ยาที่มีความแรงมากในเด็กเล็ก เพราะอาจไปกดการหายใจได้ วิธีที่ดีที่สุดคือการให้น้ำและเกลือแร่ เพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำ เพราะอาการขาดน้ำในเด็กอาจทำให้เสียชีวิตได้

ข้อห้ามใช้ของยาสำหรับทารกและเด็กเล็กบางชนิดที่ควรจดจำ

1. แอสไพริน (Aspirin) ไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบ เพราะอาจทำให้มีเลือดออกได้

2. คลอร์เฟนิรามีน (Chlorpheniramine) ไม่ควรใช้ในทารกอายุต่ำกว่า 2 เดือน เพราะอาจทำให้ซึม นอนไม่หลับ หรือชักได้

3. คลอแรมเฟนิคอล (Chloramphenicol) ห้ามใช้ในทารกอายุต่ำกว่า 4 เดือน เพราะอาจทำให้เด็กตัวเขียว เนื้อตัวอ่อนปวกเปียก หรือหมดสติได้

4. โลเปอราไมด์ (Loperamide) ไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ เพราะอาจกดศูนย์การหายใจ

5. ซัลฟานาไมด์ (Sulfanamide) ห้ามใช้ในเด็กทารกอายุต่ำกว่า 2 เดือน เพราะอาจทำให้เกิด ดีซ่านและสมองพิการได้

6. เตตร้าซัยคลิน (Tetracyclin) ห้ามใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 8 ขวบ เพราะอาจทำให้ฟันเหลืองดำอย่างถาวรและกระดูกเจริญเติบโตไม่ดี

7. เดกซ์โทรเมทอร์แฟน (Dextromethorphan) ห้ามใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ เพราะยาอาจกดศูนย์กลางการหายใจ

การให้ยาเด็กแม้จะเป็นเรื่องที่ยากกว่าการให้ยาผู้ใหญ่ แต่เชื่อว่าไม่ได้เป็นเรื่องที่ยากเกินกว่าที่จะศึกษา สิ่งสำคัญคือต้องมีความอดทน รอบคอบ และใส่ใจ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *