พ่อแม่มือใหม่ไม่พลาด! 6 ข้อน่ารู้ว่าด้วยท่านอนของทารก

0

การนอนเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขและสำคัญกับสุขภาพ นอกจากให้ความสำคัญกับจำนวนชั่วโมงการนอน หรือดูแลให้เบบี๋นอนอย่างเพียงพอแล้ว อีกสิ่งซึ่งพ่อแม่ต้องใส่ใจและระวังเป็นพิเศษ คือ ท่านอน เนื่องจากท่านอนของลูกน้อยนั้นสำคัญอย่างยิ่ง หากนอนผิดวิธีอาจเสี่ยงต่อการหายใจจนอันตรายถึงชีวิตได้

6 ข้อน่ารู้ว่าด้วยท่านอนของทารก

1. ท่าทางการนอนที่เหมาะสมกับเด็กเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรก เพราะท่านอนที่ไม่เหมาะสมทำให้เกิดโรค SIDS (Sudden Infant Death Syndrome) หรือโรคไหลตายในทารกได้ โดยโรคนี้ เป็นภาวะที่ทารกในช่วงอายุ 1 ปีแรกเสียชีวิตขณะนอนหลับ เกิดขึ้นได้แม้ในทารกที่มีสุขภาพแข็งแรงดี พบบ่อยที่อายุ 2-4 เดือน สาเหตุของภาวะนี้เกี่ยวข้องกับสิ่งที่มากีดขวางการหายใจของทารกขณะนอนหลับ เช่น การนอนคว่ำ การที่มีผ้าห่มปิดหน้าทารกขณะนอนหลับ

2. ท่านอนสำหรับเด็กแรกเกิด – 3 เดือน ควรให้นอนหงายหรือนอนตะแคง เพราะพัฒนาการของกล้ามเนื้อที่คอยังไม่แข็งแรง ทำได้เพียงหันซ้ายหันขวาด้านเดียว ซึ่งเป็นท่าที่เบบี๋จะสามารถมองเห็นสิ่งแวดล้อมรอบตัว เป็นการฝึกการมองเห็นไปในตัว ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาการของลูกได้ ส่วนผู้เลี้ยงดูก็สามารถสังเกตการหายใจ หน้าตา ท่าทาง และลักษณะของลูกได้ชัดเจน ลดความเสี่ยงจากภาวะ SIDS ได้ ป้องกันการมีอะไรมาปิดใบหน้าของลูกได้ดีกว่า

3. ท่านอนสำหรับเด็กวัย 4 – 6 เดือน ควรให้นอนหงายหรือนอนตะแคง อย่างไรก็ตาม ทารกวัยนี้สามารถเริ่มนอนคว่ำได้ เพราะคอเริ่มแข็งแรง สามารถชันคอและยกศีรษะได้เอง แต่ผู้เลี้ยงดูควรต้องเฝ้าดูอย่างใกล้ชิด เพราะอาจทำให้ลูกน้อยหายใจลำบากได้ จึงควรสลับกับท่านอนหงาย นอกจากนี้ ควรเลือกใช้เตียงสำหรับเด็กที่ได้มาตรฐาน ไม่นุ่มนิ่มจนเกินไป ควรใช้ที่นอนบางแต่แข็งพอสมควร ใช้หมอนบางใบเล็ก เพื่อไม่ให้ปิดกั้นทางเดินหายใจ

4. ท่านอนสำหรับเด็กวัย 7 – 12 เดือน สามารถนอนได้ทุกท่า ไม่ว่าจะเป็นนอนหงาย นอนตะแคง กึ่งนั่งกึ่งนอน นอนคว่ำ เพราะร่างกายค่อนข้างแข็งแรง และสามารถขยับร่างกายพลิกตัวเองได้แล้ว แต่ผู้เลี้ยงดูก็ไม่ควรปล่อยปละละเลย เพราะอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ สิ่งที่ต้องทำคือหมั่นสังเกตตัวเด็กและสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็กอยู่เสมอ เช่น บนที่นอนของเบบี๋จะต้องไม่มีอะไรที่จะมาปิดหน้าลูกได้ระหว่างที่ลูกนอนหลับอยู่ อย่าให้เอาผ้าห่มปิดจมูกจนหายใจลำบาก เป็นต้น

5. ท่านอนที่ปลอดภัยกับทารกทุกช่วงวัย คือ ท่านอนหงาย ไม่ควรให้นอนคว่ำบ่อย ๆ เพราะเสี่ยงต่อการกดทับจมูกและปากจนขาดอากาศหายใจ ซึ่งเป็นปัจจัยของโรค SIDS นั่นเอง อย่างไรก็ตาม เด็กแต่ละคนย่อมมีความชอบที่ต่างกัน พ่อ แม่ ผู้ดูแลควรลองเปลี่ยนท่านอนให้ลูกเรื่อย ๆ เพื่อหาท่านอนที่ลูกของคุณนอนหลับสบายที่สุด

6. ท่านอนที่ทำให้ลูกน้อยหัวทุย คือการให้ลูกน้อยนอนตะแคงซ้ายและขวาสลับกันไป และให้กอดหมอนข้างเพื่อป้องกันการหน้าคว่ำ หรือให้นอนหงายและพลิกหน้าให้หันซ้ายหันขวา ส่วนท่านอนหงายอาจทำให้เด็กหัวแบนได้ เนื่องจากกะโหลกศีรษะของเด็กยังนุ่มและบางอยู่ หากมีการกดทับเป็นเวลานานก็จะทำให้ศีรษะแบนได้

ทั้งนี้ เพื่อป้องกันโรค SIDS ควรแยกที่นอนทารกออกจากที่นอนของพ่อแม่ ไม่นำตุ๊กตาหรือของเล่นวางไว้บนที่นอนของทารก ที่นอนไม่ควรอ่อนนิ่มจนเกินไป ที่สำคัญอย่าจัดให้เด็กนอนใกล้สิ่งของซึ่งอาจพลิกคว่ำทับเด็กได้

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *