4 เคล็ดลับดูแลลูกหลานลดเสี่ยงอ้วนช่วงปิดเทอม

0

ช่วงปิดเทอมเด็ก ๆ อยู่บ้านมากขึ้น ส่งผลให้พฤติกรรมส่วนใหญ่ของเด็กเปลี่ยนไป อาทิ นอนดึก ตื่นสาย นั่ง ๆ นอน ๆ เล่นเกมเล่นมือถือทั้งวัน งดมื้อเช้า กินขนม น้ำอัดลม น้ำหวาน และมีพฤติกรรมเนือยนิ่งเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เด็กมีน้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น ไม่อยากให้ลูกหลานอ้วนจนเสี่ยงโรค ครอบครัวต้องใส่ใจดูแล

จากรายงานข้อมูลภาวะโภชนาการของกระทรวงสาธารณสุข ปี 2566 เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2566 พบเด็กอายุ 6-14 ปี มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน ร้อยละ 13.2 และเด็กอายุ 15-18 ปี มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน ร้อยละ 13.0 ซึ่งเกินกว่าค่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ ไม่เกิน ร้อยละ 12.0 และจากข้อมูลในปี 2538 – 2557 พบว่า เด็กไทยติด 1 ใน 3 ของอาเซียนที่มีภาวะน้ำหนักเกิน และมีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วนเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า

อีกทั้ง 1 ใน 2 ของเด็กอายุ 12 ปี ดื่มเครื่องดื่มรสหวานและน้ำอัดลมมากกว่า 2 ครั้งต่อวัน และ 1 ใน 3 ของเด็กไทยกินขนมถุงเป็นประจำทุกวันมากกว่า 2 ครั้ง นอกจากนี้ จากการเก็บข้อมูลยังพบว่า 9 ใน 10 ของเด็กไทยเห็นสื่อโฆษณาอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมสูง ซึ่งการเห็นสื่อโฆษณาบ่อย ๆ จะกระตุ้นการกินของเด็กทำให้อยากได้ อยากกินตามโฆษณา และมากกว่า 3 ใน 4 ของเด็กไทยที่ไม่เห็นข้อความเตือนในโฆษณาอาหารและเครื่องดื่ม

เคล็ดลับดูแลลูกหลานลดเสี่ยงอ้วนช่วงปิดเทอม

1. จัดอาหารให้ลูกโดยเลือกสรรอาหารที่มีคุณค่าและถูกหลักโภชนาการ ทั้งปริมาณและความเหมาะสมกับวัย ใน 1 วัน ควรกินอาหารที่หลากหลาย และครบ 5 หมู่ ซึ่งเด็กอายุ 6 – 14 ปี ควรได้รับพลังงานเฉลี่ยที่ 1,600 กิโลแคลอรี โดยในแต่ละวันควรกินข้าวหรือแป้ง จำนวน 8 ทัพพี เนื้อสัตว์ จำนวน 6 ช้อนกินข้าว ผัก จำนวน 12 ช้อนกินข้าว นม 2 แก้ว และให้มีผลไม้ 6 – 8 ชิ้นพอดีคำทุกมื้อ รวมถึงดูแลให้ลูกดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ (ประมาณ 6 – 8 แก้วต่อวัน)

2. หลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่มีประโยชน์น้อยหรือไม่มีประโยชน์ เช่น ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูป เช่น ไส้กรอก ลูกชิ้น รวมทั้งเลี่ยงอาหารสำเร็จรูปพร้อมทาน อาหารแช่แข็งพร้อมทาน ควบคุมการซื้อขนมกรุบกรอบ เครื่องดื่มรสหวานจัด น้ำอัดลม ชานมไข่มุก อาจชวนเด็กฝึกปรุงอาหารของตนเอง เน้นลดหวาน มัน เค็ม โดยพ่อแม่คอยดูแลและช่วยเหลือ

3. เลือกอาหารว่างที่มีประโยชน์ให้ลูกทานระหว่างวันในปริมาณที่เหมาะสม เช่น นมรสจืด น้ำผลไม้รสธรรมชาติ น้ำสมุนไพร ธัญพืช ผลไม้สดรสชาติหวานน้อย ขนมไทยรสไม่หวานจัด อาหารว่างจำเป็นต่อสุขภาพเด็ก เนื่องจากร่างกายและอวัยวะเด็กมีขนาดเล็ก กินอาหารได้ครั้งละไม่มาก แต่เด็กต้องการพลังงานและสารอาหารสูงเพื่อการเจริญเติบโต

4. ส่งเสริมให้เด็กมีกิจกรรมทางกาย จนรู้สึกเหนื่อย อย่างน้อย 60 นาทีทุกวัน (สะสมต่อเนื่อง10 นาทีขึ้นไป) เช่น เต้นแอโรบิก วิ่ง ปั่นจักรยาน กระโดดเชือก ทำงานบ้าน งานสวน เคลื่อนไหวร่างกายให้มากขึ้น เพื่อการมีสุขภาพที่ดี และนอนหลับให้เพียงพอวันละ 9- 11 ชั่วโมง (สำหรับเด็กอายุ 6-13 ปี) และ 8 – 10 ชั่วโมง (สำหรับเด็กอายุ 14-17 ปี) แนะนำให้พ่อแม่หาเวลาเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายร่วมกับลูกบ่อย ๆ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัวให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

สุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ ภาวะอ้วนนำมาซึ่งโรคต่าง ๆ ไม่อยากให้ลูกหลานเสี่ยงโรค ช่วงปิดเทอมพ่อแม่ ผู้ปกครอง จึงควรใส่ใจในการดูแลพฤติกรรมสุขภาพของเด็กเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะด้านอาหารและโภชนาการ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *