ดูฉลากก่อนซื้อช็อกโกแลต ถ้าไม่อยากเสี่ยงสารปนเปื้อน

0

“ช็อกโกแลต” เป็นหนึ่งในเมนูแสนอร่อยสุดโปรดของคนทั่วโลก จุดเด่นของช็อกโกแลต คือ กลิ่นและรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ ไม่แปลกที่ช็อกโกแลตจะมีให้เลือกซื้อหาหลากหลายยี่ห้อมากๆ

ว่าแต่อย่าเห็นแก่ความอร่อยจนลืมอ่านฉลากก่อนซื้อรับประทานนะคะ เพราะถ้าพลาดคุณอาจได้สารปนเปื้อนเป็นของแถม!

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แถลงข่าวผลการตรวจสอบการปนเปื้อนแคดเมียมและตะกั่วในช็อกโกแลต เมื่อไม่นานนี้ว่า

จากการสุ่มตรวจตัวอย่างช็อกโกแลตที่ผลิตในประเทศและนำเข้าจำนวน 19 ตัวอย่าง เมื่อ ส.ค. – ก.ย. 2560 เป็นดาร์กช็อกโกแลตจำนวน 10 ตัวอย่าง และช็อกโกแลตประเภทอื่นๆ อีก 9 ตัวอย่าง พบว่า มีเพียง 1 ตัวอย่างที่ไม่พบทั้งตะกั่วและแคดเมียม มี 8 ตัวอย่างพบการปนเปื้อนทั้งตะกั่วและแคดเมียม และมี 10 ตัวอย่างที่ปนเปื้อนเฉพาะแคดเมียม

look-at-the-label-before-buying-chocolate-if-you-do-not-want-to-risk-contamination

อย่างไรก็ตาม ปริมาณตะกั่วที่พบสูงสุดนั้นอยู่ที่ 0.05 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งถือว่าไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานของไทยและต่างประเทศ ส่วนแคดเมียมยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานทั้งระดับประเทศ หรือแม่แต่ของยุโรป แต่ทางยุโรปกำลังกำหนดมาตรฐานเพื่อประกาศใช้ในปี 2019 เบื้องต้นเท่าที่ทราบเกณฑ์ คือ…

หากสัดส่วนของช็อกโกแลตต่ำกว่า 30% ต้องมีแคดเมียมไม่เกิน 0.1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (มก./กก.) ถ้ามีช็อกโกแลต 30 – 50% แคดเมียมต้องไม่เกิน 0.3 มก./กก. ถ้าช็อกโกแลต 50% แคดเมียมต้องไม่เกิน 0.8 มก./กก.

ตะกั่วและแคดเมียมถือเป็นโลหะหนัก ซึ่งการปนเปื้อนในอาหารไม่สามารถทำลายได้ด้วยความร้อน ทั้งนี้ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 83 พ.ศ. 2527 เรื่อง ช็อกโกแลต กำหนดให้สารตะกั่วที่ตรวจพบในช็อกโกแลตต้องไม่เกิน 1 มก./กก. ช็อกโกแลตชนิดไม่หวาน หรือไม่ใส่น้ำตาล ตรวจพบได้ไม่เกิน 2 มก./กก.

สำหรับตะกั่วหากสะสมในร่างกายในปริมาณมากๆ จะส่งผลต่อระบบประสาท ทำให้เซลล์สมองถูกทำลาย เดินเซ ความจำเสื่อม เป็นพิษต่อระบบโลหิต ต่อไต ระบบทางเดินอาหาร ทำให้ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน และระบบสืบพันธุ์ ทำให้เป็นหมัน

หากได้รับแคดเมียมมากๆ อาจทำให้เกิดอาการเฉียบพลันได้ เช่น เวียนหัว คลื่นไส้ อาเจียนรุนแรง ถ่ายเหลว อาจมีภาวะเลือดปน รวมถึงไตวายเฉียบพลันทำให้เสียชีวิตได้ ทั้งนี้ หากต้องการบริโภคช็อกโกแลตควรอ่านฉลากก่อน ยิ่งมีปริมาณโกโก้มากเท่าไร ก็มีโอกาสที่ตะกั่วและแคดเมียมปนเปื้อนมากขึ้น

ที่สำคัญ ควรอ่านฉลากพลังงานด้วยว่า 1 บรรจุภัณฑ์ มีปริมาณกี่แคลอรี เนื่องจากช็อกโกแลตมักมีน้ำตาลสูง เพื่อพิจารณาว่าควรแบ่งกินเท่าไรในการหลีกเลี่ยงภาวะอ้วน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *