มีภาวะซึมเศร้า..จะทำอย่างไรเพื่อป้องกันไม่ให้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า

0

หลังเกิดวิกฤติโรคโควิด-19 มีผู้คนจำนวนมากตกอยู่ในภาวะเครียด ไม่ว่าจะจากเรื่องความเจ็บป่วย การเงิน ความสัมพันธ์ ฯลฯ ที่น่ากลัวคือความเครียดระยะยาวอาจทำให้เกิดภาวะเศร้า ท้อแท้ สิ้นหวังรุนแรง หรือที่เรียกว่า ภาวะซึมเศร้า หากปล่อยทิ้งไว้ไม่ดูแลเยียวยาสุขภาพจิต อาจทำให้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้

ภาวะซึมเศร้า ไม่ใช่ความรู้สึกเบื่อ เซ็ง เศร้า ท้อแท้ทั่วไป แต่เป็นความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง มีอาการเศร้า ท้อแท้ สิ้นหวังรุนแรง เบื่อไม่อยากทำอะไร แม้แต่กิจกรรมเพลิดเพลินที่เคยชอบทำ โดยเกิดติดต่อกัน 2 สัปดาห์ ขึ้นไป สำหรับผู้ที่มีอาการรุนแรง อาจฆ่าตัวตาย โดยมีแนวโน้มมากกว่าคนทั่วไป 20 เท่า

โรคซึมเศร้าเกิดจาก 2 สาเหตุ คือ 1. ปัจจัยทางชีวภาพ เช่น พันธุกรรม หรือโรคทางกายบางอย่าง เช่น โรคไทรอยด์ สารเสพติดต่างๆ 2. ปัจจัยด้านจิตสังคมและลักษณะนิสัย เช่น เป็นคนเครียดสูง มองตนเองในแง่ลบ มองโลกในแง่ร้าย รวมทั้งความเครียดที่เราพบเจอในชีวิตประจำวัน เช่น การเจอกับเหตุการณ์สะเทือนใจอย่างรุนแรง ความผิดหวัง สูญเสียคนที่รัก

เซ็คซิ คุณมีแนวโน้มเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่? ลองสำรวจตัวเองด้วยคำถาม 2 ข้อนี้

1. ตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา รวมถึงวันนี้ คุณรู้สึก หดหู่ เศร้า หรือท้อแท้ สิ้นหวัง หรือไม่

2. ตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา รวมถึงวันนี้ คุณรู้สึก เบื่อ ทำอะไรไม่เพลิดเพลิน หรือไม่

ถ้าคำตอบ “ไม่มี” ทั้งสองคำถาม ถือว่า “ปกติ” ไม่เป็นโรคซึมเศร้า

ถ้าคำตอบ “มี” ข้อใดข้อหนึ่ง หรือ ทั้งสองข้อ ในคำถามที่ 1 และ 2 หมายถึง คุณเป็นผู้มีความเสี่ยงหรือมีแนวโน้มที่จะป่วยเป็นโรคซึมเศร้า

หากมีภาวะซึมเศร้า สามารถป้องกันไม่ให้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้โดย

1. คุยกับคนที่ไว้ใจเกี่ยวกับอารมณ์เศร้าและเรื่องที่ทำให้เศร้า หลายคนรู้สึกดีขึ้นหลังจากการพูดคุย

2. ทำกิจกรรมที่เคยทำ แล้วมีความสุข

3. ไปมาหาสู่พบปะพูดคุยกับเพื่อน และครอบครัวบ่อย ๆ และสม่ำเสมอ

4. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ แม้เป็นการเดินระยะสั้นก็ได้ จนเหงื่อซึมไหล นาน 30 นาที

5. รับประทานอาหาร และนอนให้เป็นเวลาทุก ๆ วัน

6. ทำใจกับอาการซึมเศร้าว่า เป็นเรื่องที่ทุกคนเป็นได้ ความคาดหวังในสิ่งต่าง ๆ อาจจะไม่เป็นไปตามที่เคยเป็น

7. งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ห้ามใช้ยาเสพติด เพราะทำให้อาการซึมเศร้าเป็นมากขึ้น

8. ไปพบแพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา หรือบุคลากรสาธารณสุข จะได้รับการดูแลช่วยเหลือที่ทันท่วงที และเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการรักษา

9. หากมีความคิดว่าไม่อยากมีชีวิตอยู่ หรืออยากทำร้ายตนเอง ให้รีบขอความช่วยเหลือจากบุคลากรสาธารณสุขโดยด่วน

10. ให้ระลึกอยู่เสมอว่า การได้รับดูแลรักษาที่ถูกวิธี จะทำให้อาการดีขึ้นอย่างรวดเร็วและหายขาด

สรุปคร่าว ๆ คือ ภาวะซึมเศร้า สามารถรักษาได้ด้วยการกินยาต้านเศร้า การทำจิตบำบัดและป้องกันได้โดยการคุยกับคนที่ไว้ใจ ออกกำลังกาย ทำกิจกรรมที่ทำแล้วมีความสุข

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *