6 วิธีลดความเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง

0

ประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงมากถึง 14 ล้านคน และมากกว่า 7 ล้านคนที่ป่วยแต่ยังไม่เข้ารับการรักษา โรคความดันโลหิตสูงส่วนมากมักไม่แสดงอาการ หากผู้ป่วยมีภาวะความดันโลหิตสูงเป็นระยะเวลานานและไม่ได้รับการรักษา ความรุนแรงของโรคจะเพิ่มมากขึ้น และอาจทำให้เสียชีวิตได้

โรคความดันโลหิตสูงถึงแม้จะไม่มีอาการแต่ต้องรักษาและป้องกัน สำหรับวิธีป้องกันและรักษาโรคความดันโลหิตสูงทำได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ได้แก่

1. งดรับประทานอาหารรสเค็มหรือมีโซเดียมสูง โดยคนทั่วไปที่ไม่ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงไม่ควรรับประทานโซเดียมเกิน 2000 มิลลิกรัมต่อวัน แต่ถ้าป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงแล้วไม่ควรเกิน 1500 มิลลิกรัมต่อวัน 

2. ออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ เนื่องจากการออกกำลังกายช่วยป้องกันการเกิดความดันโลหิตสูงได้ ในคนที่มีความดันโลหิตอยู่ในเกณฑ์ปกติ และช่วยลดความดันโลหิตให้อยู่ในระดับที่ดีได้ ในคนที่มีความดันโลหิตสูง

3. ลดความอ้วน ให้ค่า BMI ไม่เกิน 23 กิโลกรัมต่อตารางเมตร เนื่องจากภาวะอ้วนทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ จากการศึกษาพบว่าถ้าลดน้ำหนักตัว 4.4 กก. ในช่วง 6 เดือน สามารถลดความดันโลหิตได้ 2.5 mmHg

4. หลีกเลี่ยงความเครียด เนื่องจากเมื่อเราเกิดความเครียด ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนคอทิซอล และอะดรินาลีน ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น เลือดสูบฉีดมากขึ้น ผนังหลอดเลือดหดเกร็งขึ้น ทำให้เกิดความดันเลือดสูงขึ้นในช่วงที่เราเกิดความเครียด

5. งดสูบบุหรี่ เนื่องจากควันบุหรี่ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น 5-10 มิลลิเมตรปรอท เลือดมีความหนืด ออกซิเจนไปเสี่ยงหัวใจลดลง เกิดดการอักเสบของผนังเส้นเลือด

6. งดดื่มสุรา เนื่องจากการดื่มสุราจะไปกระตุ้นหัวใจให้สูบฉีดเลือดได้เร็ว และแรงขึ้น ทำให้เกิดความดันสูงในหลอดเลือด

เพราะโรคความดันโลหิตสูงถึงแม้จะไม่มีอาการ แต่อาจทำให้เกิดโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหัวใจขาดเลือด โรคไตเรื้อรัง และเสียชีวิตได้ จึงควรควบคุมความดันโลหิตให้น้อยกว่า 120/80 มิลลิเมตรปรอท ถ้าเกิน 130/80 มิลลิเมตรปรอท คือ เริ่มสูงต้องเริ่มปรับพฤติกรรม ถ้าสูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท ถือว่าป่วยเป็นความดันโลหิตสูงต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์และเข้ารับการรักษา ถ้าเกิน 160/100 มิลลิเมตรปรอท คือ สูงมากซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ และถ้าเกิน 180/110 มิลลิเมตรปรอท สูงถึงขีดอันตรายต้องรีบไปพบแพทย์ทันที

สำหรับวิธีวัดความดันโลหิตที่ถูกต้องคือวัดความดันโลหิตในช่วงเช้าภายใน 1 ชั่วโมง หลังตื่นนอน หรือหลังปัสสาวะแล้ว วัดความดันจำนวน 2 ครั้ง ให้ห่างกันครั้งละ 1 นาที วัดช่วงเวลาก่อนเข้านอนโดยวัดความดัน 2 ครั้ง ให้ห่างกันครั้งละ 1 นาที นั่งเก้าอี้ให้หลังพิงพนักเพื่อไม่ให้หลังเกร็ง เท้าทั้ง 2 ข้าง วางราบกับพื้นให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย วัดความดันโลหิตในแขนข้างที่ไม่ถนัด หรือข้างที่มีความดันโลหิตสูงกว่า โดยวางแขนให้อยู่ในระดับเดียวกันกับหัวใจ ขณะวัดความดันโลหิตไม่กำมือ ไม่พูดคุยหรือขยับตัว ทั้งนี้ ควรวัดความดันหลังจากนั่งพักอย่างน้อย 30 นาที และ 1 ชั่วโมง หลังรับประทานอาหาร ดื่มกาแฟ สูบบุหรี่ หรือออกกำลังกาย

ย้ำอีกครั้ง ผู้ที่ความดันสูงเกิน 140/90 มิลลิเมตรปรอท จำเป็นต้องพบแพทย์และรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอถึงแม้จะไม่มีอาการ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและทำให้เสียชีวิตได้

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *