ความเครียดของแม่ ภัยเงียบที่ส่งผลต่อการพัฒนาสมองของลูกในครรภ์

0

แม่ตั้งครรภ์มักมีสภาพอารมณ์ที่เปลี่ยนไป ตกอยู่ในความเครียดได้ง่ายจากคนที่เคยมีเหตุผลอาจจะหงุดหงิดง่ายไม่มีเหตุผล รวมไปถึงหลังคลอดแม่อาจเผชิญภาวะซึมเศร้า ซึ่งบางคนอาจเป็นอยู่นานกว่าปกติ และที่หลายคนอาจไม่ทราบคือ ความเครียดของแม่ เป็นภัยเงียบที่ส่งผลต่อการพัฒนาสมองของลูกในครรภ์

หนังสือ คู่มือพ่อแม่ พัฒนาทักษะสมอง EF-Executive Functions ตั้งแต่ปฏิสนธิ-3 ปี โดย สสส. ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ สรุปความได้ว่า หากแม่ตั้งครรภ์เกิดความเครียด วิตกกังวลมาก ๆ ต่อเนื่องยาวนาน จะส่งผลต่อสมองทารกในครรภ์ โดยฮอร์โมนเครียดจากแม่จะผ่านมาที่รกเข้าไปสู่ระบบเลือดของลูก แล้วไหลเวียน ไปทั่วร่างกาย ส่งผลต่อการพัฒนาอวัยวะต่าง ๆ เช่น ระบบเส้นเลือด หัวใจ ไต นำมาซึ่งโรคหลอดเลือดหัวใจ ความดันสูง หัวใจล้มเหลว ตับ และตับอ่อน เมื่อทารกเกิดมา อวัยวะเหล่านี้จะไม่สมบูรณ์ อาจทำให้เป็นโรคต่าง ๆ ในเวลาต่อมาได้

นอกจากนั้นความเครียดยังกระตุ้นให้ระบบประสาทอัตโนมัติหลั่งนอร์อะดรีนาลีน (Noradrenaline) เพิ่มขึ้น (เป็นสารเคมีที่มีบทบาทในฐานะฮอร์โมนซึ่งทำให้ตื่นตัว) ทำให้เส้นเลือดที่รกหดตัว เลือดไปเลี้ยงทารกได้น้อยลง ขณะเดียวกันก็ไปกระตุ้นการสร้างฮอร์โมนที่เป็นเอนไซม์สั่งการผลิตคอร์ติซอล (ฮอร์โมนเครียด) ในรกให้เพิ่มขึ้นด้วย

คอร์ติซอลมีความสำคัญต่ออวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย ทำให้เรากระตือรือร้น เมื่อเจอความท้าทายก็ทำให้เราตื่นตัวเพื่อรับมือกับความท้าทายนั้น ในกรณีปกติร่างกายจะควบคุมไม่ให้คอร์ติซอลขึ้นสูงเป็นเวลานาน แต่เด็กที่เกิดจากแม่ที่ตกอยู่ในภาวะเครียดระหว่างตั้งครรภ์ เมื่อเผชิญความเครียด คอร์ติซอลจะขึ้นสูงมากและคงอยู่เป็นเวลานาน ไม่ลงมาสู่ภาวะปกติ ส่งผลต่อการพัฒนาสมองของเด็กในอนาคต โดยเฉพาะสมองส่วนความคิด

ที่สำคัญ ความเครียดของแม่อาจส่งผลกระทบต่อกระบวนการสร้างสมองลูกในทางใดทางหนึ่ง ขึ้นอยู่กับว่าแม่เครียดในช่วงที่สมองกำลังพัฒนาไปส่วนไหนหรือกลไกการสร้างสมองส่วนใด เพราะกระบวนการสร้างสมองลูกนั้นเกิดขึ้นเป็นขั้นตอนตั้งแต่การแบ่งเซลล์ การแตกแขนงของเส้นใยประสาท การอพยพของเซลล์ประสาทเพื่อไปอยู่ตามตำแหน่งต่าง ๆ และการสร้าง Synapse

หากทำให้การอพยพของเซลล์ประสาทไม่ได้ไปในตำแหน่งที่เหมาะสม สมองของเด็กแรกเกิดนั้นจะเป็นฮาร์ดแวร์ที่ไม่สมบูรณ์ ทำงานได้ไม่เต็มที่ จะทำให้วงจรประสาทไม่มีประสิทธิภาพ พบว่าทารกที่แม่เครียด เส้นใยประสาทจะแตกแขนงอย่างมากหลังคลอดสองสัปดาห์ หลังจากนั้นจะลดลงอย่างรวดเร็วเป็นระยะเวลานาน ซึ่งในเด็กปกติการแตกแขนงของเส้นใยประสาทจะต้องค่อยเป็นค่อยไป ค่อย ๆ ขึ้นสูงสุดแล้วจึงค่อย ๆ ลด

ทั้งหมดนี้จะส่งเสริมให้เด็กมีแนวโน้มที่จะเครียดง่าย หายยาก จัดการอารมณ์ตนเองได้ยาก วิตกกังวลง่าย ไม่ค่อยกล้าออกไปสำรวจเรียนรู้ ปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ใหม่ ๆ ยาก สังเกตได้ว่าเมื่อปล่อยเด็กให้อยู่ในสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ เด็กที่มีสุขภาพจิตดีจะกล้าออกสำรวจสิ่งต่าง ๆ กล้าเรียนรู้ ทำความรู้จักคนและสิ่งต่าง ๆ เด็กที่ไม่กล้าหยิบจับ สำรวจ ไม่กล้าพูดคุยกับใคร แสดงว่าเด็กคนนั้นมีความวิตกกังวลมากกว่าเด็กทั่วไป

ที่น่ากังวล คือ ถ้าเด็กได้รับการเลี้ยงดูไม่ดี ถูกทอดทิ้ง ขาดอาหาร ถูกทุบตี สมองก็จะยิ่งมีความผิดปกติที่ชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเด็กโตขึ้น และส่งผลไปจนกระทั่งเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *