ภาวะหมดไฟในการทำงาน อันตรายหรือไม่? ใครบ้างที่เสี่ยง?

0

แม้จะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโรคใหม่จากองค์การอนามัยโลก (WHO) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2562 แต่เชื่อว่าเมื่อกล่าวถึง ภาวะหมดไฟการทำงาน หลายคนก็ยังไม่รู้จักหรือเข้าใจเกี่ยวกับภาวะนี้ได้อย่างถูกต้อง ว่าแล้วมาทำความรู้จักภาวะนี้กัน พร้อมหาคำตอบต่อคำถามที่ว่า ภาวะหมดไฟในการทำงาน อันตรายหรือไม่? ใครบ้างที่เสี่ยง?

ภาวะหมดไฟ (Burnout Syndrome) เป็นภาวะของการอ่อนล้าทางอารมณ์ เป็นผลจากความเครียดจากงานที่มากเกินไป อย่างต่อเนื่องยาวนาน ทำให้ผู้มีภาวะหมดไฟมีความรู้สึกว่างานนั้นเกินกำลังที่จะทำได้ มีอารมณ์ร่วมกับงานลดลงมาก และไม่สามารถตอบสนองกับความต้องการ ในการทำงานหรือทำงานได้ไม่ดี ต่อเนื่องนานเข้าก็จะสูญเสียความสนใจและแรงจูงใจในการทำงาน ลดลงหรือหมดไป ก่อให้เกิดความรู้สึกว่าช่วยตัวเองไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้ดี เกิดความรู้สึกเป็นลบและเสียใจ ลงท้ายด้วยทำให้รู้สึกว่าไม่สามารถทำอะไรให้ใครได้

คนทำงานอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหมดไฟ หากรู้สึกว่างานของตนมีลักษณะดังต่อไปนี้

1. ภาระงานหนัก และปริมาณงานมาก รวมถึงงานมีความซับซ้อน ต้องทำในเวลาเร่งรีบ

2. ขาดอำนาจในการตัดสินใจ และมีปัญหาการเรียงลำดับความสำคัญของงาน

3. ไม่ได้รับการตอบแทน หรือรางวัลที่เพียงพอต่อสิ่งที่ได้ทุ่มเทไป

4. รู้สึกไร้ตัวตนในที่ทำงาน หรือไม่เป็นส่วนหนึ่งของทีม

5. ไม่ได้รับความยุติธรรม ขาดความเชื่อใจ และการเปิดใจยอมรับกัน

6. ระบบบริหารในที่ทำงานที่ขัดต่อคุณค่า และจุดมุ่งหมายในชีวิตของตนเอง

อย่างไรก็ตาม หากภาวะหมดไฟไม่ได้รับการจัดการ อาจส่งผลด้านต่างๆ ดังนี้

1. ผลด้านร่างกาย : อาจพบอาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง อ่อนเพลีย อาจมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน รวมถึงปวดเมื่อยร่างกาย และประสิทธิภาพในการทำงานลดลง

2. ผลด้านจิตใจ : บางรายอาจสูญเสียแรงจูงใจ หมดหวัง รู้สึกหมดหนทางที่จะช่วยให้ดีขึ้น ส่งผลให้มีอาการของภาวะซึมเศร้าและอาการนอนไม่หลับได้ หากอาการรุนแรงจะนำไปสู่โรคนอนไม่หลับเรื้อรัง/ ฝันร้าย อาจพบมีการใช้สารเสพติดเพื่อจัดการกับอารมณ์

3. ผลต่อการทำงาน : อาจขาดงานบ่อย ประสิทธิภาพการทำงานลดลง อาจคิดเรื่องลาออกในที่สุด

อาการเหล่านี้จัดอยู่ในกลุ่มอาการไม่รุนแรงเท่ากับโรคซึมเศร้า แต่หากปล่อยไว้และอยู่ในสภาพแวดล้อม และสภาพอารมณ์ลักษณะนี้เดิมๆ หรือนานวันเข้าก็อาจเกิดโรคซึมเศร้าได้เช่นกัน

สำหรับแนวทางการรักษาและการป้องกันภาวะหมดไฟ ทำได้โดยใช้หลัก 3 ประการ (3R) ประกอบด้วย

1. การตรวจประเมิน สังเกตอาการ/อาการแสดงเตือนของภาวะหมดไฟ อาจประเมินภาวะหมดไฟได้ โดยเครื่องมือต่างๆ เช่น MBI (Maslach Burnout Inventory) เป็นแบบสอบถามเพื่อประเมินภาวะหมดไฟ

2. การปรับแก้ไข จัดการปรับแก้ไขโดยการหาความช่วยเหลือ และจัดการความเครียด

3. การฟื้นฟู ฟื้นฟูสภาพให้พร้อมรับมือกับความเครียดได้ดีกว่าเดิม โดยดูแลสุขภาพและสุขภาพอารมณ์ให้ดี

จะเห็นได้ว่า ภาวะหมดไฟในการทำงานกับโรคซึมเศร้ามีความแตกต่างกัน ไม่ใช่โรคเดียวกัน แต่หากสงสัยว่าป่วยเป็นโรคดังกล่าว อย่านิ่งนอนใจ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อจะได้รับการตรวจวินิจฉัยและทำการรักษาอย่างทันท่วงที

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *