ภาวะซึมเศร้า เป็นภาวะที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงหรือพิการ ซึ่งประสบความยากลำบากในการเข้ารับบริการสาธารณสุข บุคคลกลุ่มนี้จะมีโอกาสเกิดภาวะซึมเศร้าได้สูงกว่าผู้สูงอายุทั่วไป ภาวะซึมเศร้านั้นมีโอกาสพัฒนาไปเป็นโรคซึมเศร้าได้ในอนาคต ซึ่งอาจส่งผลถึงขั้นทำให้ผู้สูงอายุไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไป
ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุคืออะไร?
ภาวะซึมเศร้า (depression) คือการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ชนิดหนึ่ง สำหรับภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุนั้นเป็นภาวะที่เกิดในผู้สูงวัย ช่วงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป อาการหลักๆ คือผู้สูงอายุจะรู้สึกเบื่อหน่ายหรือเศร้า หรือทั้งสองอย่าง โดยอาจมีการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมการกิน การนอน เรี่ยวแรง สมาธิ รวมถึงความรู้สึกที่มีต่อตัวเองร่วมด้วย
การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ ถ้าเป็นไม่มากนัก อาจเข้าข่าย ภาวะซึมเศร้า แต่หากมีอาการมากและกินระยะเวลานานก็อาจพัฒนากลายเป็น โรคซึมเศร้า ซึ่งจะทำให้ไม่มีความสุขในชีวิต ทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้ไม่ดีเหมือนเดิม และบางรายที่รู้สึกท้อแท้หรือหมดหวัง อาจส่งผลรุนแรงถึงขั้นไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไป
อาการของภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุเป็นอย่างไร?
1. รู้สึกเบื่อหน่าย : ผู้สูงอายุจะรู้สึกเบื่อหน่าย สนใจสิ่งต่างๆ น้อยลงหรือหมดความสนใจ หมดอาลัยตายอยากในชีวิต ไม่เบิกบาน ห่อเหี่ยว หดหู่ หรือเซ็ง
2. รู้สึกเศร้า : ผู้สูงอายุจะเศร้าโศกเสียใจง่าย น้อยใจง่าย ร้องไห้ง่าย รวมถึงมักรู้สึกท้อใจ
3. พฤติกรรมการนอนเปลี่ยนแปลง : ผู้สูงอายุจะนอนไม่หลับ หลับๆ ตื่นๆ ตื่นเช้ากว่าปกติ หรืออาจนอนมากขึ้น หลับทั้งวันทั้งคืน นอนขี้เซา
4. พฤติกรรมการกินเปลี่ยนแปลง : เบื่ออาหาร ไม่ค่อยหิวหรืออาจกินจุขึ้น ของที่เคยชอบกินกลับไม่อยากกิน หรือบางรายอาจอยากกินของที่ปกติไม่กิน เช่น ของหวานๆ
5. การเคลื่อนไหวของร่างกายเปลี่ยนแปลง : ผู้สูงอายุอาจเคลื่อนไหวเชื่องช้าลงหรือเคลื่อนไหวมากขึ้น กระวนกระวาย
6. กำลังกายเปลี่ยนแปลง : อ่อนเพลียง่าย กำลังวังชาลดน้อยถอยลง รู้สึกไม่ค่อยแข็งแรงเหมือนเดิม ไม่ค่อยมีแรง บางราย
อาจบ่นเกี่ยวกับอาการทางร่างกายหลายอย่างที่ตรวจไม่พบสาเหตุ หรือมีอาการมากกว่าอาการปกติของโรคนั้นๆ
7. ความรู้สึกต่อตนเองเปลี่ยนแปลง : รู้สึกไร้ค่า รู้สึกผิด หรือรู้สึกแย่กับตัวเอง คิดว่าตนเป็นภาระของลูกหลาน ไม่มีความสามารถเหมือนที่เคยเป็น ความภาคภูมิใจในตนเองลดลงอับจนหนหาง หมดหวังในชีวิต
8. สมาธิและความจำบกพร่อง : หลงลืมบ่อย โดยเฉพาะลืมเรื่องใหม่ๆ ใจลอย คิดไม่ค่อยออก มักลังเลหรือตัดสินใจผิดพลาด
9. ทำร้ายตัวเอง : ผู้สูงอายุบางรายที่มีอาการมากๆ อาจรู้สึกไม่อยากมีชีวิตอยู่อีกต่อไป บางรายจะคิดหรือพูดถึงความตาย
บ่อยๆ นึกอยากตาย และอาจวางแผนทำร้ายร่างกาย เช่น เตรียมสะสมยาจำนวนมากๆ เตรียมวัสดุอุปกรณ์ จากนั้นอาจ
ลงมือทำร้ายตัวเองด้วยวิธีต่างๆ เช่น กินยาเกินขนาด กินยาฆ่าแมลงหรือยาฆ่าหญ้า แขวนคอ หรือใช้อาวุธทำร้ายตนเองผู้สูงอายุบางรายอาจไม่ยอมกินยาประจำตัว เพื่อปล่อยให้อาการทรุดลงจนเสียชีวิต
หากสังเกตเห็นว่าผู้สูงอายุมีอาการข้างต้นมากกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป ลูกหลานหรือผู้ดูแล ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อหาทางรับมือที่เหมาะสม รวมถึงนำไปสู่ขั้นตอนการรักษาให้อาการดีขึ้นหรือหายเป็นปกติ