เบื่อไหมกับการเสียเวลายืดเส้นยืดสาย เสริมสร้างกล้ามเนื้อ และกินยาแก้ปวดทั้ง ๆ ที่ผลลัพธ์อาจไม่เป็นไปตามที่หวัง หมดยุคของการทานยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการปวดศีรษะ ปวดคอ ปวดหลัง ปวดข้อเท้า ปวดกล้ามเนื้อที่เกิดจากการเคลื่อนไหวหรือทำท่าทางที่ไม่ถูกต้อง ด้วยตัวช่วยอย่าง TENS
เครื่องกระตุ้นเส้นประสาทด้วยไฟฟ้าผ่านผิวหนัง (Transcutaneous Electrical Nerve Stimulation : TENS) คือ เครื่องมือสำหรับกระตุ้นเส้นประสาทด้วยไฟฟ้าผ่านผิวหนัง เพื่อลดอาการปวด ประกอบด้วยตัวเครื่องและขั้วกระตุ้นไฟฟ้า (Electrode) โดยขั้วกระตุ้นไฟฟ้าทำมาจากยางหรือโพลิเมอร์สังเคราะห์ที่สามารถติดกับผิวหนังได้โดยไม่ต้องใช้เทปหรือเจล การวางขั้วในตำแหน่งที่ต่างกันจะให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องให้นักกายภาพบำบัดเป็นผู้ประเมิน หรือกรณีซื้อเครื่องมาทำเองที่บ้าน ควรอ่านคู่มืออย่างละเอียดและปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
TENS จะกระตุ้นใยประสาทขนาดใหญ่ได้ เมื่อใยประสาทขนาดใหญ่ถูกกระตุ้นขึ้น จะนำไปสู่ขบวนการยับยั้งการทำงานของ T cell ที่ทำให้เกิดผล คือ การลดความเจ็บปวด (อ้างอิงตามทฤษฎี Gate control โดยปกติเมื่อร่างกายถูกกระตุ้นความเจ็บปวด จะส่งกระแสประสาทขนาดเล็กไปตามเส้นประสาท และนำไปสู่ขบวนการยับยั้ง Substantia Gelatinosa และเกิดการกระตุ้นการทำงานของ T cell ทำให้เกิดความรู้สึกเจ็บปวด) นอกจากนี้ สามารถยับยั้งอาการปวดผ่านการหลั่งสารคล้ายมอร์ฟินเพื่อลดอาการปวดได้เช่นกัน และผ่านทางการกระตุ้นตัวรับความรู้สึกความเจ็บปวดในกล้ามเนื้อ
ข้อบ่งใช้สำหรับการใช้เครื่องกระตุ้นเส้นประสาทด้วยไฟฟ้าผ่านผิวหนัง (TENS)
– ลดอาการเจ็บปวดในระยะเฉียบพลัน (Acute pain) กล่าวคือ ช่วงตั้งแต่เริ่มมีอาการปวด เช่น กล้ามเนื้อเกร็งตัว, ข้อเท้าแพลง, ข้อเท้าพลิก, ปวดหลัง, ปวดคอ, การบาดเจ็บเล็กน้อยทางกีฬา
– ลดอาการเจ็บปวดระยะเรื้อรัง (Chronic pain) เช่น ปวดหลังส่วนล่าง, โรครูมาตอยด์, โรคข้อเสื่อม, ปลายประสาทอักเสบ, การบาดเจ็บของเส้นประสาทส่วนปลาย, มะเร็ง, ปวดศีรษะไมเกรน
– ลดอาการปวดในผู้ป่วยหลังผ่าตัดในระยะเฉียบพลันได้ เช่น การผ่าตัดบริเวณช่องท้อง ช่องอก เป็นต้น
– ลดอาการปวดหลังผ่าตัด
– ลดอาการปวดจากภาวะข้ออักเสบ
– ลดอาการขณะใกล้คลอดและหลังคลอด (จะติดตัวกระตุ้นไฟฟ้าเพื่อลดอาการปวดบริเวณหลัง)
สำหรับผู้ที่ไม่ควรใช้เครื่อง TENS ได้แก่ ผู้ป่วยที่ติดเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ, ผู้ป่วยที่มีภาวะโรคกล้ามเนื้อหัวใจ, ผู้ป่วยที่มีแผลติดเชื้อ, ผู้ป่วยที่ไม่สามารถสื่อสารให้เข้าใจได้, ผู้ป่วยที่เป็นเด็กเล็กหรือทารก, ผู้ป่วยที่มีภาวะพร่องการรับรู้ความรู้สึก ส่วนผู้ที่ควรระวังในการรักษาด้วย TENS ได้แก่ ผู้ป่วยที่มีอาการระคายเคืองที่ผิวหนังได้ง่าย, ผู้ป่วยที่มีภาวะไหลเวียนเลือดไม่ดี นอกจากนี้ควรระมัดระวังการวางตัวกระตุ้นบริเวณทรวงอกและช่องท้องส่วนล่าง การวางขั้วกระตุ้นบริเวณที่มีแผลหรือแผลเปิด รวมถึงการวางตัวกระตุ้นใกล้บริเวณที่มีโลหะฝังอยู่ในร่างกาย
ทั้งนี้ การกระตุ้นเส้นประสาทด้วยไฟฟ้าผ่านผิวหนังเพียงอย่างเดียวไม่ได้แก้อาการปวดได้ทั้งหมด อาจต้องพึ่งพาการรักษาอื่น ๆ ด้วย เพียงแต่บรรเทาอาการปวดให้ลดลงทั้งจากบริเวณกล้ามเนื้อหรือบริเวณข้อต่อของร่างกาย