หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดสมอง เทคโนโลยีเปลี่ยนชีวิตผู้ป่วยโรคทางสมอง

0

ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคลมชักกว่า 5 แสนราย เกือบ 1.5 แสนรายมีภาวะดื้อยากันชัก ครึ่งหนึ่งสามารถผ่าตัดรักษาได้ตามวิธีมาตรฐาน อีกครึ่งหนึ่งต้องตรวจหาจุดกำเนิดชักซึ่งมีความซับซ้อน ดังนั้น หากมีเทคโนโลยีที่แม่นยำเพื่อช่วยในการผ่าตัดย่อมทำให้การรักษาผู้ป่วยเป็นไปได้ด้วยดี และเทคโนโลยีที่ว่า คือ หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดสมอง

การใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ทำให้กระบวนการผ่าตัดที่มีความสลับซับซ้อนหรืออยู่ในตำแหน่งที่เข้าถึงยากทำได้อย่างแม่นยำ ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก เสียเลือดน้อย ฟื้นตัวได้เร็ว และช่วยลดภาวะแทรกซ้อนภายหลังการผ่าตัด สำหรับโรคทางสมอง การใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด จึงเป็นตัวช่วยที่ดีในการรักษาโรคที่มีจุดกำเนิดของโรคที่ซับซ้อน ต้องอาศัยความแม่นยำสูงในการผ่าตัด

สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ ได้พัฒนาระบบเทคโนโลยีการแพทย์ชั้นสูงโดยการนำหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดสมอง เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงการรักษาที่ทันสมัย ปลอดภัย ซึ่งความสามารถของหุ่นยนต์นี้ สามารถช่วยผ่าตัดได้หลายโรคและหลายหัตถการ เช่น การผ่าตัดวางขั้วไฟฟ้าเพื่อหาจุดกำเนิดของโรคลมชัก การผ่าตัดวางเครื่องมือ DBS ในโรคพาร์กินสัน ผ่าตัดเนื้องอกในสมองทั่วไปและเนื้องอกที่บริเวณต่อมใต้สมองซึ่งอยู่ในส่วนลึก การผ่าตัดชิ้นเนื้อใน สมองส่วนลึก การผ่าตัดส่องกล้องในสมอง (Endoscope) หรือการผ่าตัดอื่น ๆ ที่ต้องการความแม่นยำสูงหรืออยู่ในตำแหน่งที่ยากต่อการเข้าถึงด้วยวิธีการผ่าตัดแบบธรรมดา

ในส่วนของโรคลมชัก โรคนี้เป็นอาการผิดปกติทางระบบประสาทที่เรื้อรัง โดยผู้ป่วยจะมีอาการชักเกิดขึ้นซ้ำอยู่เรื่อย ๆ โดยไม่มีปัจจัยกระตุ้น อาการชักเป็นอาการหลักของโรคลมชัก โดยเกิดจากระบบประสาทในสมองทำงานมากเกินปกติ สำหรับการรักษาโรคลมชักในปัจจุบันทำได้หลายวิธี โดยปกติในผู้ป่วยโรคลมชักที่มีจุดกำเนิดของโรคจากสมองเฉพาะที่และดื้อต่อการรักษาด้วยยากันชัก จะรักษาด้วยการผ่าตัดใส่ขั้วไฟฟ้าเข้าไปตรวจวัดหาตำแหน่งที่เป็นจุดกำเนิดที่เล็กที่สุดและตรวจวัดการทำหน้าที่ของสมองเพื่อวางแผนผ่าตัด

เมื่อนำหุ่นยนต์มาช่วยวางแผนผ่าตัดวางขั้วไฟฟ้าเพื่อหาจุดกำเนิดชักและโรคพาร์กินสัน ซึ่งมีความแม่นยำทั้งตำแหน่งและความลึกของเป้าหมาย ผ่านระบบนำวิถี Navigation ของตัวหุ่นยนต์ จะช่วยลดระยะเวลาการผ่าตัดได้ถึง 4-8 ชั่วโมงต่อหัตถการ ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาที่ผู้ป่วยต้องหลับภายใต้ยาสลบ ลดความบอบช้ำจากการผ่าตัด ศัลยแพทย์สามารถใช้เวลากับผู้ป่วยได้มากขึ้นโดยไม่เหนื่อยล้าเท่าเดิม รวมทั้งใช้ในการผ่าตัดผู้ป่วยพาร์กินสันด้วยการจี้สมอง (Thermocoagulation)ใส่เครื่องกระตุ้นสมองส่วนลึก (Deep Brain Stimulation) เพื่อรักษาโรคลมชัก

สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ ได้ดำเนินการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดสมองเพิ่มความแม่นยำในการผ่าตัด ลด ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด ได้เปิดให้บริการ ตั้งแต่ 30 พฤษภาคม พ.ศ.2562 เป็นต้นมา ซึ่งตลอดระยะเวลา 4 ปี หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดสมองตัวนี้ ได้ช่วยผ่าตัดผู้ป่วยโรคทางสมอง เช่น โรคลมชักที่รักษายากและมีความซับซ้อน โรคพาร์กินสัน เนื้องอก เลือดออกในสมอง ใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก จากจำนวนผ่าตัดโรคทางสมองกว่า 60 ราย

โรคทางสมองส่วนใหญ่เป็นโรคที่ซับซ้อนและมีอาการที่หลากหลาย จึงจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างครอบคลุมโดยแพทย์ผู้ชำนาญการร่วมกับการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *