“เครื่องวัดความดัน” อุปกรณ์เตือนภัยของชาวความดันโลหิตสูง

0

โรคความดันโลหิตสูงเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญระดับโลก โดยในกลุ่มประชากรอายุ 30-79 ปี มีผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงเกือบ 1.3 พันล้านคน ที่น่ากลัวคือโรคความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยเสี่ยง ที่ก่อให้เกิดโรคอื่นๆ เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคไต เป็นต้น ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

จากการสำรวจสุขภาพประชากรไทยในปี 2562-2563 พบว่าประชากรอายุ 18 ปีขึ้นไป เป็นโรคความดันโลหิตสูง จำนวน 13 ล้านคน และในจำนวนนี้มีมากถึง 7 ล้านคน ไม่ทราบว่าตนเองป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง หากผู้ป่วยมีภาวะความดันโลหิตสูงเป็นระยะเวลานานและไม่ได้รับการดูแลรักษา ความรุนแรงของโรคจะเพิ่มมากขึ้น อาจแสดงอาการต่างๆ ได้แก่ ปวดศีรษะ ใจสั่น ตาพร่ามัว อ่อนเพลีย วิงเวียน สับสน หายใจลำบาก หัวใจเต้นผิดปกติ 

การป้องกันโรคความดันโลหิตสูงหรือลดความรุนแรงของโรคสามารถทำได้ โดยการกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ลดหวาน มัน เค็ม เพิ่มผักผลไม้ไม่หวานจัด ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทำจิตใจให้สงบเพื่อลดความเครียด งดสูบบุหรี่และงดดื่มสุรา นอกจากนี้ อุปกรณ์สำคัญที่ผู้ป่วยหรือกลุ่มเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูงควรมีติดบ้านไว้ คือ เครื่องวัดความดันโลหิต

เครื่องวัดความดันโลหิต ถูกออกแบบมาเพื่อวัดค่าความดันภายในหลอดเลือดแดง เพื่อที่จะได้สังเกตและเฝ้าระวังค่าความดันผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ การวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอจะทำให้ทราบการแปรปรวนของค่าความดันโลหิตในเวลาต่างๆ ของชีวิตประจำวัน ซึ่งถ้าวัดเฉพาะตอนไปโรงพยาบาล ก็อาจจะไม่ได้ข้อมูลตรงนี้ รวมถึงช่วยป้องกันการป่วยโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง และโรคไต ปัจจุบันมีเครื่องวัดความดันโลหิต 2 ชนิด ได้แก่

1. เครื่องวัดความดันโลหิตแบบเชิงกล (Non-invasive mechanical sphygmomanometers) มีการใช้งานร่วมกับหูฟัง (Stethoscope) เหมาะกับการใช้งานโดยผู้ที่มีทักษะในการวัดภายในสถานพยาบาล ได้แก่ เครื่องวัดความดันโลหิตแบบปรอท (Mercurial manometer) เครื่องวัดความดันโลหิตหน้าปัดนาฬิกา (Aneroid manometer) หรือเครื่องวัดความดันโลหิตที่แสดงค่าความดันเป็นดิจิตอล (digital display)

2. เครื่องวัดความดันโลหิตอัตโนมัติ (Non-invasive automated sphygmomanometers) ซึ่งเป็นเครื่องวัดความดันโลหิตที่มีระบบตรวจวัดค่าความดันโลหิตในตัว และแสดงค่าความดันโดยอัตโนมัติเป็นดิจิตอล มีทั้งต้นแขนและแบบข้อมือ สามารถเลือกซื้อมาใช้เองภายในบ้าน ทั้งนี้ เพื่อประสิทธิภาพที่ดีควรเลือกเครื่องวัดความดันที่มีการรับรองมาตรฐาน เช่น CE (Conformite Europeene), UL (Underwriters Laboratories), มอก. (มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม)

สำหรับวิธีการวัดความดันโลหิตที่ถูกต้อง คือ

1. ผู้ถูกวัด ควรมีการเตรียมตัวก่อนการวัด ไม่ดื่มชา-กาแฟ และไม่สูบบุหรี่ก่อนทำการวัด 30 นาที 

2. นั่งบนเก้าอี้หลังพิงพนักและหลังตรง เท้าทั้งสองวางราบกับพื้นไม่ไขว่ห้าง งดการพูดคุยระหว่างวัดความดันโลหิต

3. วางแขนไว้บนโต๊ะให้ปลอกแขน (Arm cuff) อยู่ระดับเดียวกับหัวใจ ไม่เกร็งแขนและไม่กำมือขณะวัดความดันโลหิต

4. กดปุ่มที่เครื่องวัดความดัน จากนั้นปอกแขนจะค่อยๆ พองขึ้นจนรู้สึกแน่น และจะคลายตัวออก โดยตัวเลขที่ขึ้นบนหน้าจอ คือค่าความดันของคุณ ให้จดบันทึกค่าไว้ ควรวัดหลายๆ ครั้ง แล้วหาค่าเฉลี่ยเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำ

ทั้งนี้ หากได้รับการรักษาตั้งแต่เริ่มต้น และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต พร้อมติดตามวัดความดันโลหิตด้วยตนเองที่บ้านอย่างสม่ำเสมอ จะสามารถควบคุมความดันโลหิตได้ดียิ่งขึ้น และจะลดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้เป็นอย่างดี

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *