การตรวจน้ำลายหาเชื้อโควิด-19… ข้อดี-วิธีใช้-ความแม่นยำ?

0

เมื่อกล่าวถึงการตรวจหาเชื้อโควิดด้วยตนเองด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) การตรวจโดยใช้การเก็บตัวอย่างจากน้ำลาย (saliva) ยังไม่เป็นที่นิยมนัก เนื่องจากบางคนยังเกิดคำถามเกี่ยวกับความแม่นยำของวิธีนี้ ว่าแล้วมาเจาะลึกถึงข้อดี วิธีใช้หรือเก็บตัวอย่าง รวมถึงความแม่นยำของวิธีนี้กัน

ข้อดี

1. ความสะดวกในการใช้งาน เหมาะสำหรับคนทั่วไป รวมถึงเด็กและผู้สูงอายุ เพียงเก็บน้ำลายอย่างถูกวิธีและใช้ชุดตรวจจุ่มลงในภาชนะเก็บน้ำลาย จากนั้นรอผลประมาณ 15 นาที ก็สามารถรู้ผลได้ทันที ขณะที่การใช้ไม้ swab (สว็อบ) ในการตรวจด้วยตนเองนั้น จะต้องใส่ไปตามแนวของฐานจมูกตรง ๆ เข้าไปจนสุด แล้วจึงหมุนไม้ swab เบาๆ จากนั้นทิ้งไว้สักครู่จึงค่อย ๆ ดึงไม้ swab ออก ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวทำด้วยตัวเองได้ไม่สะดวกนักและอาจทำได้ไม่ถูกวิธี

2. ไม่เจ็บตัว ไม่ระคายเคือง ต่างจากการใช้ไม้ swab ในการตรวจด้วยตนเองซึ่งมักมีอาการเจ็บ ระคายเคืองจมูก และอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บในโพรงจมูก หรือเลือดกำเดาไหลได้ และทำให้ผลที่ได้จากการตรวจอาจคลาดเคลื่อน

3. ลดโอกาสในการแพร่กระจายเชื้อ เนื่องจากเป็นวิธีการที่ไม่ระคายเคือง เมื่อเทียบกับการเก็บตัวอย่างจากโพรงจมูก จึงนำไปสู่การลดโอกาสในการแพร่กระจายเชื้อจากตัวผู้ป่วยหรือผู้ต้องสงสัยไปยังพยาบาลที่มีหน้าที่ในการเก็บตัวอย่างด้วย

4. ประหยัดค่าใช้จ่าย เนื่องจากในการเก็บตัวอย่างทั้งจากที่โพรงจมูกและลำคอ ผู้เก็บตัวอย่างที่เป็นแพทย์หรือพยาบาลจะต้องใส่เครื่องป้องกันที่มีมาตรฐานสูง ซึ่งมีราคาค่อนข้างแพงในการเก็บตัวอย่าง ดังนั้น การเก็บตัวอย่างด้วยน้ำลาย ซึ่งผู้ป่วยสามารถเก็บตัวอย่างได้เอง เก็บได้ง่าย สะดวก จึงช่วยลดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการใช้เครื่องป้องกันได้อีกด้วย

วิธีใช้

1. ให้ผู้ตรวจเก็บตัวอย่างด้วยการกระแอมให้มีน้ำลายออกมาจากลำคอผสมปนกับน้ำลายในช่องปาก บ้วนน้ำลายลงในภาชนะรองรับที่บรรจุอยู่ในกล่องชุดตรวจ จากนั้นใช้ชุดตรวจตามขั้นตอนการใช้งาน

2. การเก็บตัวอย่างน้ำลายให้ได้คุณภาพ คือ ผู้ตรวจควรงดการแปรงฟัน งดการบ้วนปากด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ งดการดื่มเครื่องดื่มและรับประทานอาหาร รวมทั้งงดสูบบุหรี่ งดเคี้ยวหมากฝรั่ง และแนะนำให้บ้วนปากด้วยน้ำสะอาดก่อนเก็บตัวอย่างอย่างน้อย 30 นาที เพื่อให้ได้น้ำลายสำหรับการตรวจที่ยังมีเชื้อปนเปื้อนอยู่ในปริมาณที่มากพอ

ความแม่นยำ

ข้อมูลจาก ดร.เอกวัฒน์ ผสมทรัพย์ หัวหน้าห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยา ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ระบุว่า ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดมาก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีได้รับผู้ป่วยที่ติดเชื้อและผู้ป่วยที่ต้องสงสัยจำนวนมาก ซึ่งระหว่างนั้นได้มีการทำวิจัยเปรียบเทียบในการใช้ตัวอย่างเปรียบเทียบระหว่าง การเก็บตัวอย่างจากการเก็บเชื้อจากโพรงจมูกและเก็บเชื้อจากลำคอ ร่วมกับการเก็บตัวอย่างจากน้ำลาย เพื่อนำมาตรวจด้วยวิธี RT-PCR ซึ่งจากผลการวิจัยสรุปได้ว่า ตัวอย่างที่เก็บจากน้ำลาย จากโพรงจมูก และลำคอให้ผลที่ใกล้เคียงกัน

สรุปได้ว่า การใช้น้ำลายเป็นตัวอย่างในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 มีความแม่นยำเทียบเคียงกับวิธีการเก็บตัวอย่างจากหลังโพรงจมูก ทั้งยังเป็นวิธีการเก็บตัวอย่างที่สะดวกมาก ไม่เจ็บตัว สามารถเก็บตัวอย่างได้ง่ายด้วยตนเอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *