อวสานสายชาบูปิ้งย่าง…กินไม่ระวังสุขภาพพังได้

0

ได้ชื่อว่าเป็นเมนูสุดโปรดของสายตี้ สำหรับ ชาบู ปิ้งย่าง หมูกระทะ เพราะเหมาะแก่การสังสรรค์ ทำไปกินไป เพลิดเพลินเป็นที่สุด แต่เพื่อสุขภาพที่ดีห่างไกลโรค ขณะปิ้งย่างหรือลวกเนื้อสัตว์ควรระมัดระวัง เพราะหากปิ้งย่างเนื้อหมูไม่สุก หรือสุก ๆ ดิบ ๆ อาจทำให้เสี่ยงติดเชื้อโรคหูดับ ส่วนเนื้อสัตว์ที่ไหม้อาจนำไปสู่โรคมะเร็งได้

โรคหูดับ เกิดจากการกินเนื้อหมูดิบ หรือเลือดหมูสุก ๆ ดิบ ๆ เช่น ลาบหมูดิบ ลาบเลือดดิบ ที่มีเชื้อสเตปโตค็อกคัสซูอิส  (Streptococcus suis) ปนเปื้อนอยู่ โดยเชื้อนี้จะอยู่ในทางเดินหายใจของหมู และอยู่ในเลือดของหมูที่กำลังป่วย นอกจากกินเนื้อดิบแล้ว เชื้อนี้ยังสามารถเข้าทางบาดแผล หรือรอยถลอก ขีดข่วนตามร่างกาย หรือทางเยื่อบุตาได้ เมื่อได้รับเชื้อโรคไข้หูดับเข้าไปแล้ว ทำให้ผู้ติดเชื้อมีไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง เวียนศีรษะจนทรงตัวไม่ได้ อาเจียน ถ่ายเหลว คอแข็ง ผู้ป่วยส่วนใหญ่สูญเสียการได้ยิน ถึงขั้นหูหนวกถาวร ข้ออักเสบ เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังติดเชื้อ รุนแรงถึงติดเชื้อในกระแสเลือดจนเสียชีวิต

นอกจากนี้ การรับประทานเมนูประเภทปิ้งย่าง หมูกระทะ ยังเสี่ยงต่อการได้รับสารพีเอเอชหรือสารกลุ่มโพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic aromatic hydrocarbon) ซึ่งเป็นชนิดเดียวกับที่เกิดในควันไฟ ไอเสียของเครื่องยนต์ ควันบุหรี่ และเตาเผาเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม โดยสารนี้จะพบในบริเวณที่ไหม้เกรียมของอาหารที่ปรุงด้วยการปิ้ง ย่าง หรือรมควันของเนื้อสัตว์ที่มีไขมันหรือมันเปลวติดอยู่ เช่น หมูย่างติดมัน เนื้อย่างติดมัน ไก่ย่างส่วนติดมัน เนื่องจากขณะปิ้งย่าง ไขมันหรือน้ำมันจะหยดไปบนเตาไฟ ทำให้เกิดการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ ก่อให้เกิดสารพีเอเอชลอยขึ้นมาพร้อมเขม่าควันเกาะที่บริเวณผิวของอาหาร หากกินเข้าไปเป็นประจำจะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง

5 วิธีกินหมูกะทะ อาหารปิ้ง-ย่าง ชาบู อย่างปลอดภัย

1. สุกทั่วถึง : ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์ประเภทใด ควรผ่านการปรุงให้สุกโดยใช้ความร้อน ให้สุกอย่างทั่วถึงด้วยอุณหภูมิตั้งแต่ 70 องศาเซลเซียสขึ้นไป เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 5 นาที การนำเนื้อสัตว์จุ่มลงไปเพียงไม่กี่วินาทีอาจจะทำให้เนื้อได้รับความร้อนไม่ทั่วถึง และเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อโรคได้

2. แยกใช้อุปกรณ์ : อุปกรณ์และภาชนะต้องแยกใช้ระหว่างเนื้อที่สุกแล้วกับเนื้อดิบ โดยเฉพาะ เขียง ที่คีบ ตะเกียบ เพราะการใช้อุปกรณ์ร่วมกันจะทำให้เชื้อโรคจากเนื้อดิบปนเปื้อนในเนื้อที่สุกได้ ระวังการนำตะเกียบที่ใช้คีบเนื้อดิบ คีบเนื้อสุกกิน

3. เลือกเนื้อสัตว์ : ซื้อเนื้อสัตว์จากแหล่งที่น่าเชื่อถือได้ หรือมีการรับรองความปลอดภัย และเมื่อนำมาปรุงประกอบอาหารเลือกเฉพาะส่วนหรือที่มีไขมันติดน้อยที่สุด หรือควรตัดส่วนที่เป็นไขมันออกไปก่อนนำไปย่าง เพื่อลดไขมันที่จะไปหยดลงบนถ่าน และหลังปิ้งย่างควรหั่นส่วนที่ไหม้เกรียมออกให้มากที่สุด ถ้าต้องปิ้งย่างบนเตาถ่านธรรมดา ควรใช้ถ่านที่อัดเป็นก้อน ไม่ควรใช้ถ่านป่นละเอียด หรืออาจใช้ฟืนที่เป็นไม้เนื้อแข็ง เพราะจะช่วยให้การเผาไหม้จะเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ

4. ใบตองช่วย : อาจจะใช้ใบตองห่ออาหารก่อนทำการปิ้งย่าง ซึ่งนอกจากจะลดปริมาณไขมัน จากอาหารที่หยดลงไปบนถ่านแล้วยังทำให้อาหารมีกลิ่นหอมใบตองด้วย

5. เลือกร้านอาหาร : เลือกร้านที่ใช้อุปกรณ์และภาชนะในการปิ้ง ย่างแยกกันอย่างชัดเจน และใช้เตาที่สามารถลดหรือป้องกันน้ำมันหยดลงบนเตาไฟได้ เช่น เตาไฟฟ้าหรือเตาไร้ควัน ซึ่งสามารถควบคุมระดับความร้อนได้ดีกว่าการใช้เตาถ่าน

6. ระวังการสัมผัสหมู : ผู้ที่สัมผัสกับหมูที่ติดโรค โดยเฉพาะผู้เลี้ยงหมู ผู้ที่ชำแหละเนื้อหมู สัตวแพทย์ ควรสวมรองเท้าบู๊ทยาง สวมถุงมือ สวมเสื้อที่รัดกุมระหว่างทำงาน หากมีบาดแผลต้องปิดแผลให้มิดชิด และล้างมือหลังสัมผัสกับหมูทุกครั้ง

ทั้งนี้ ควรเสริมผักและผลไม้เพื่อช่วยให้ร่างกายมีภูมิต้านทานโรค และกินอาหารให้มีความหลากหลายในปริมาณที่พอดีกับร่างกาย รวมถึงหลังกินเสร็จต้องมั่นใจว่าดับถ่านในเตาไฟจนสนิท ป้องกันการเกิดไฟไหม้

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *