9 คุณค่าโภชนาการ “ปาท่องโก๋-ชาไทย” ที่นักชิมต้องรู้

0
9 คุณค่าโภชนาการ "ปาท่องโก๋-ชาไทย" ที่นักชิมต้องรู้

“ปาท่องโก๋-ชาไทย” ได้ชื่อว่าเป็นเมนูยอดฮิตของคนไทย รวมถึงสร้างชื่อระดับโลกโดยคว้าอันดับอันดับ 5 ของหวานสตรีทฟู้ดที่ดีที่สุดของโลก และติดอันดับ 7 เครื่องดื่มที่อร่อยที่สุดในโลก ตามลำดับ จากการจัดอันดับของ TasteAtlas และนี่คือ ข้อน่ารู้เกี่ยวกับโภชนาการทางอาหารของเมนูฮิต “ปาท่องโก๋-ชาไทย” เพื่อให้ผู้บริโภคอย่างเรา ๆ กินดีสุขภาพดี

9 คุณค่าโภชนาการ “ปาท่องโก๋-ชาไทย” ที่นักชิมต้องรู้

1. ปาท่องโก๋ 100 กรัม ให้พลังงานถึง 441 กิโลแคลอรี มีคาร์โบไฮเดรต 40.56 กรัม ไขมัน 27.79 กรัม ปาท่องโก๋ 1 คู่ขนาดกลาง จะมีน้ำหนักประมาณ 30 กรัม จึงให้พลังงานประมาณ 132 กิโลแคลอรี คาร์โบไฮเดรต 12 กรัม ไขมัน 8 กรัม ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับขนาดว่าตัวเล็กหรือตัวใหญ่

2. ปาท่องโก๋เป็นขนมที่มีคาร์โบไฮเดรตและไขมันอิ่มตัว รวมทั้งให้พลังงานสูง เหมาะผู้ที่ต้องการเพิ่มพลังงาน

3. ปาท่องโก๋มีโซเดียมจากผงฟูหรือเกลือปรุงรสสูงด้วย จึงไม่เหมาะกับผู้ที่เป็นไทรอยด์เป็นพิษ และโรคความดันโลหิตสูง

4. ปาท่องโก๋เป็นของที่ต้องทอดในน้ำมัน ซึ่งปกติจะเป็นน้ำมันที่มีไขมันอิ่มตัวสูงมาก ที่น่ากลัวคือ การได้รับไขมันอิ่มตัวในปริมาณมากจะทำให้เกิดโรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด ซึ่งเป็นต้นทางของโรคหัวใจ

5. ปาท่องโก๋ส่วนใหญ่จะนิยมใช้น้ำมันทอดซ้ำ ซึ่งก่อให้เกิดสารโพลาร์ที่อาจก่อให้เกิดมะเร็ง โดยเฉพาะความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งในลําคอ กล่องเสียง หรือระบบทางเดินหายใจ ดังนั้น วิธีกินปาท่องโก๋แบบไม่อ้วนและครบถ้วนคุณค่า จึงควรเลือกปาท่องโก๋ที่ใช้น้ำมันใหม่ในการทอด สังเกตได้จากสีที่เป็นน้ำตาลอ่อน รวมถึงไม่อมน้ำมันจนเกินไป

6. เนื่องจากปาท่องโก๋เป็นขนมที่ให้พลังงานสูง จึงไม่ควรกินเกิน 2 คู่ต่อวัน และกินปาท่องโก๋ได้ไม่เกินสัปดาห์ละ 1 ครั้ง อาจกินพร้อมโจ๊ก ไข่ต้ม เพื่อให้ร่างกายได้รับโปรตีน หรือกินกับผลไม้ไม่หวานจัด น้ำเต้าหู้ชนิดไม่หวาน เพิ่มธัญพืช เช่น ถั่วแดง เม็ดแมงลัก ข้าวบาร์เล่ย์ ลูกเดือย เพื่อเพิ่มใยอาหารช่วยดักจับไขมัน และเลี่ยงการกินปาท่องโก๋แบบจิ้มกับดิปปิ้งอื่น ๆ

7. ชาไทย หรือ ชาเย็น 1 แก้ว ปริมาณ 200 มิลลิตร ให้พลังงานประมาณ 430 กิโลแคลอรี่ ขึ้นอยู่กับสูตรของแต่ละร้าน มีคาร์โบไฮเดรต 69 กรัม ไขมัน 15 กรัม น้ำตาล 53 กรัม หรือประมาณ 13 ช้อนชา (ชาไทยจะใส่นมข้นหวาน น้ำตาล หรือนมสด เพื่อให้มีกลิ่นหอม รสชาติกลมกล่อม)

8. วิธีดื่มชาไทยแบบใส่ใจสุขภาพ คือ ควรสั่งแบบหวานน้อย ไม่เกิน 2 ช้อนชา รวมทั้งความหวานอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น น้ำตาล นมข้น น้ำผึ้ง น้ำเชื่อม หรือไซรัปในเครื่องดื่มชงเย็นทุกประเภท ไม่เกิน 2 ช้อนชาเช่นเดียวกัน ควรเลือกสูตรนมสดแทนสูตรครีมเทียม เนื่องจากในครีมเทียมเป็นแหล่งของไขมัน และมีส่วนประกอบที่เป็นสารให้ความหวานมากถึงร้อยละ 60 หากกินทุกวันเป็นเวลานาน โดยไม่มีการออกกำลังกาย ก็จะเกิดการสะสมไขมันตรงตับ ในรูปของไกลโคเจน ซึ่งถ้าเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะเกิดเป็นไขมันสะสม ส่งผลทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง และก่อให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในที่สุด

9. ควรจำกัดปริมาณและความถี่ในการดื่มชาไทย ไม่ควรดื่มบ่อยจนเกินไป เนื่องจากในแต่ละวัน ร่างกายไม่ควรได้รับน้ำตาลที่มากเกิน 6 ช้อนชา ดังนั้น หากดื่มชาไทยบ่อยหรือเป็นประจำทุกวัน จะทำให้เกิดความเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาทิ เบาหวาน หลอดเลือดสมองและหัวใจ มะเร็ง ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคอ้วนลงพุงได้

ทั้งนี้ ในแต่ละวันควรกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นความหลากหลายในปริมาณที่เหมาะสม เน้นผักผลไม้ เพื่อเพิ่มใยอาหารและวิตามินที่สำคัญ รวมถึงออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อเผาผลาญพลังงานควบคู่กันไปด้วย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *