สุขภาพดีห่างไกลโรคด้วย 4 เทคนิคการกินช่วยบำรุงหัวใจ

0

กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการตายอันดับต้น ๆ ของคนทั่วโลก สาเหตุหนึ่งของปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด คือ อาหารและกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เพื่อลดเสี่ยงโรคหัวใจและป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง รวมถึงโรคอื่น ๆ นี่คือ 4 เทคนิคการกินช่วยบำรุงหัวใจให้แข็งแรง

4 เทคนิคการกินช่วยบำรุงหัวใจให้แข็งแรง

1. กำหนดปริมาณ และสัดส่วน  อาหารในจานให้เหมาะสม ไม่ให้มากเกินไป ควรมีผัก 2 ส่วน ข้าวและเนื้อสัตว์อย่างละส่วน เลี่ยงหรือลดอาหารที่มีแคลอรีและมีโซเดียมสูง เช่น อาหารแปรรูป หรืออาหารจานด่วน เพิ่มการกินผักและผลไม้ เพราะเป็นแหล่งวิตามินแร่ธาตุต่างๆ ให้พลังงานต่ำ แต่อุดมด้วยใยอาหารและสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ในกลุ่มข้าวแป้ง ควรเลือกชนิดไม่ขัดสีหรือขัดสีน้อย เช่น ข้าวกล้อง ธัญพืชเต็มเมล็ด คีนัว เป็นต้น เพราะเป็นแหล่งที่ดีของเส้นใยอาหารและสารอาหารอื่น ๆ ที่มีบทบาทในการควบคุมน้ำตาลในเลือด ความดันโลหิต และสุขภาพของหัวใจ

2. จำกัดปริมาณไขมันอิ่มตัว และไขมันทรานส์ เพื่อช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือด ทำให้ลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ เพราะการมีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงอาจนำไปสู่การสะสมของคราบไขมันที่ผนังหลอดเลือด เสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดตีบ หรือหลอดเลือดอุดตัน ควรกินไขมันให้น้อยไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา งดอาหารที่มีไขมันทรานส์ เลี่ยงอาหารทอด รวมถึงอาหารที่ใช้น้ำมันทอดซ้ำ และเลือกกินโปรตีนไขมันต่ำ เช่น โปรตีนจากพืช เต้าหู้ หรือ ปลา แนะนำเป็นปลาที่มีไขมันดี (Omega-3) เช่น แซลมอน ปลาทู ปลากะพง เป็นต้น หากกินเนื้อสัตว์ชนิดอื่น ควรกินส่วนที่ไม่ติดมัน และหลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์แปรรูปทุกรูปแบบ

3. จำกัดปริมาณน้ำตาล และโซเดียม โดยในหนึ่งวันไม่ควรกินน้ำตาลเกิน 6 ช้อนชา งดหรือลดอาหารที่มีน้ำตาลสูง เช่น น้ำผลไม้ น้ำอัดลม เครื่องดื่มชง และขนมหวาน หากบริโภคน้ำตาลมากเกินไปจะทำให้น้ำตาลในเลือดและมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคหัวใจเพิ่มขึ้นได้ในที่สุด ส่วนการปรุงรสเค็มในอาหาร ควรจำกัดเกลือ ไม่เกิน 1 ช้อนซาต่อ หลีกเลี่ยงการกินอาหารแปรรูป อาหารสำเร็จรูป อาหารหมักดอง อาหารอบแห้ง ขนมกรุบกรอบ การกินเค็มมากไป ส่งผลให้หัวใจต้องสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ หนักขึ้น เสี่ยงโรคหัวใจโต โรคความดันโลหิตสูง ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะเส้นเลือดในสมองแตกหรืออัมพาตได้

4. งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ เพราะทำให้ไขมันเลวหรือคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (Low density lipoprotein หรือ LDL) สูงขึ้น ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อความดันโลหิตและไขมันในเลือด นอกจากนี้ การดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก อาจทำให้ระดับความดันโลหิตสูงขึ้น ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพหัวใจ ส่วนการสูบบุหรี่ส่งผลต่อหัวใจโดยตรง ทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น ทำให้เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบ หัวใจเต้นเร็ว และความดันโลหิตเพิ่มขึ้น อีกทั้งในควันบุหรี่ยังมีสารเคมีมากกว่า 7,000 ชนิดที่เป็นผลเสียต่อร่างกาย โดยมีสารพิษหลายชนิดที่เป็นอันตรายต่อหลอดเลือดและหัวใจ

นอกจากเลือกกินอาหารแล้ว การออกกำลังกายเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง จะทำให้หลอดเลือดหัวใจแข็งแรงขึ้น และกระตุ้นการไหลเวียนเลือด ช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด หรือชะลอความรุนแรงโรคได้

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *