“เมลิออยโดสิส” โรคชื่อไม่คุ้นหูแต่ต้องใส่ใจเพราะอันตรายถึงชีวิต

0

เชื่อว่าคนส่วนใหญ่เมื่อเห็นหรือได้ยินเกี่ยวกับ “โรคเมลิออยโดสิส” ก็คงไม่ได้สนใจหรือปล่อยผ่าน เพราะคิดว่าเป็นโรคที่ไกลตัว แท้จริงแล้ว เมลิออยโดสิส เป็นโรคติดเชื้อที่ในประเทศไทยยังคงเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง เพราะความรุนแรงของโรคสามารถทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งมักเกิดจากการวินิจฉัยโรคช้าเกินไปทำให้รักษาไม่ทันเวลา

โรคเมลิออยโดสิส (Melioidosis) เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เบอร์โคเดอเรีย สูโดมัลลิอาย (Burkholderia pseudomallei) ซึ่งพบได้ทั่วไปในดินและน้ำ นาข้าว ท้องไร่ แปลงผัก สวนยาง ทั่วทุกภาคในประเทศไทย พบรายงานผู้ป่วยมากในช่วงฤดูฝน และถือเป็นโรคประจำถิ่นที่พบผู้ป่วยประปรายได้ตลอดปี โดยผู้ป่วยมักรับเชื้อที่อยู่ในดินและน้ำ

ในส่วนของการติดต่อนั้น โรคเมลิออยโดสิส สามารถติดต่อได้ 3 ทาง คือ 1. ผ่านทางบาดแผลบนผิวหนัง 2. หายใจเอาฝุ่นจากดินหรือน้ำที่มีเชื้อเจือปนอยู่เข้าไป 3. ดื่มหรือกินอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป และพบว่าระยะฟักตัวของเชื้อ คือ 1-21 วัน บางรายอาจนานเป็นปี อาการของโรคอาจคล้ายคลึงกับโรคติดเชื้อหลายโรค เช่น ไข้ไทฟอยด์ หรือวัณโรคที่มีโพรงในปอดหนองในช่องปอด ฝีเรื้อรัง และเยื่อกระดูกติดเชื้อ เป็นต้น

อาการของโรคเมลิออยโดสิสหลากหลายจนถึงไม่มีอาการ ผู้ป่วยมักมีไข้ทั้งแบบเฉียบพลัน หรือ ไข้เรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ มีจุดที่ปอดแต่ไม่แสดงอาการ มีเนื้อตาย แผล ฝี หนองที่ปอด ตับ ม้าม แผลอักเสบเรื้อรัง ทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดซึ่งมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ การได้รับยาไม่ถูกชนิดเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความรุนแรงของโรคได้

สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคนี้ส่วนใหญ่ คือ ผู้ที่มีอาชีพที่ต้องสัมผัสดินและน้ำโดยตรง เช่น เกษตรกรและประมง รวมถึงผู้ที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง โรคเบาหวาน โรคติดสุราเรื้อรัง โรคโลหิตจาง โรคธาลัสซีเมีย ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยเอชไอวี รวมถึง คนไข้โรคมะเร็งบริเวณต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนมีความเสี่ยงต่อโรครุนแรงสูงขึ้น   

วิธีการป้องกันโรคเมลิออยโดสิส ได้แก่

1. สวมรถุงมือยางทุกครั้งเมื่อทำงานหรือมีกิจกรรมที่สัมผัสดินหรือโคลน รวมถึงสวมรองเท้าบูทหรือชุดลุยน้ำ ทุกครั้งที่แช่น้ำ ลุยน้ำ ย่ำโคลน เพื่อป้องกันการเกิดโรคเมลิออยโดสิส

2. ผู้ที่มีบาดแผล รอยขีดข่วน รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง รวมถึงโรคต่าง ๆ ที่มีความเสี่ยง ให้หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนหรือสัมผัสดินและน้ำโดยตรง หากจำเป็นขอให้สวมรองเท้าบูท ถุงมือยาง กางเกงขายาวหรือชุดลุยน้ำ และรีบทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำสะอาดและสบู่

3. หากมีบาดแผลที่ผิวหนัง ควรรีบทำความสะอาดบาดแผล และหลีกเลี่ยงการสัมผัสดินและน้ำจนกว่าแผลจะแห้งสนิท

4. รับประทานอาหารปรุงสุก ดื่มน้ำต้มสุกหรือน้ำสะอาด

5. หลีกเลี่ยงการสัมผัสลมฝุ่น และการอยู่ท่ามกลางสายฝน

โรคเมลิออยโดสิสสามารถรักษาให้หายขาดได้ หากมีการวินิจฉัยถูกต้องตั้งแต่ระยะแรก ดังนั้น หากมีความเสี่ยงหรือสงสัยว่าอาจติดเชื้อโรคดังกล่าว ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษา

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *