โดนหมากัด ข่วน เลีย แล้วไม่รักษา ระวังป่วยด้วยพิษสุนัขบ้า

0

สภาพอากาศร้อนจัดในช่วงนี้ อาจทำให้สัตว์หงุดหงิดและทำร้ายคนได้ หลายคนชอบเล่นกับน้องหมาน้องแมวด้วยความเคยชินจนไม่ได้ระวังตัว อาจโดนกัด เลีย ข่วนได้ ที่น่ากลัวคือ หากถูกสัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัด ข่วน เลีย แล้วปล่อยทิ้งไว้ ไม่ล้างแผล ไม่รักษา ไม่ไปพบแพทย์ อันตรายถึงขั้นเสียชีวิต

ข้อมูลจากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในปี 2564 ที่ผ่านมา พบผู้เสียชีวิต 3 รายใน 3 จังหวัด (จังหวัดสุรินทร์ 2 ราย และจังหวัดบุรีรัมย์ 1 ราย) และสำหรับในปี 2565 นี้ พบผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว 1 ราย ที่จังหวัดชลบุรี โดยมีรายงานผู้เสียชีวิตรายดังกล่าว  มีประวัติสัมผัสกับสุนัขของเพื่อนบ้านที่นำมาฝากเลี้ยงข่วน

สาเหตุของการติดเชื้อพิษสุนัขบ้าส่วนใหญ่ เกิดจากการถูกสุนัขหรือแมวกัด-ข่วน แล้วไม่ได้รักษา หรือเข้ารับฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างถูกต้อง ดังนั้น หากถูกสุนัขหรือแมวที่สงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัด ข่วน เลีย น้ำลายกระเด็นเข้าทางตา ปาก หรือทางผิวหนังที่มีบาดแผล ควรรีบปฐมพยาบาล โดยล้างแผลทันทีด้วยน้ำและฟอกด้วยสบู่เบา ๆ หลาย ๆ ครั้ง ไม่บีบเค้นบาดแผล เช็ดแผลให้แห้ง ใส่ยาฆ่าเชื้อโพวีโดนไอโอดีน หรือทิงเจอร์ไอโอดีน จากนั้นควรไปพบแพทย์ทันที เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้ครบ และควรมาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง  

สำหรับอาการของโรคพิษสุนัขบ้า หลังจากรับเชื้อและเริ่มแสดงอาการ ผู้ป่วยจะมีอาการเบื่ออาหาร เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว มีไข้ อ่อนเพลีย ชา เจ็บเสียว หรือปวดบริเวณรอยแผลที่ถูกกัด คันอย่างรุนแรงที่แผล ต่อมาจะมีอาการกระสับกระส่าย ไม่ชอบเสียงดัง เพ้อเจ้อ กลัวแสง กลัวลม กลัวน้ำ กลืนลำบาก โดยเฉพาะของเหลว และกล้ามเนื้อขากระตุก แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก หรืออาจชัก เกร็ง เป็นอัมพาต หมดสติ และเสียชีวิตในที่สุด  

การป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามี 3 ขั้นตอน ดังนี้

1. ก่อนถูกกัด ใช้หลักการ 5 ย. ป้องกันการถูกกัด ได้แก่“อย่าแหย่ อย่าเหยียบ อย่าแยก อย่าหยิบ อย่ายุ่ง” คือ อย่าแหย่ให้สุนัขโมโห อย่าเหยียบสุนัขหรือทำให้สุนัขตกใจ อย่าแยกสุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า อย่าหยิบชามอาหารขณะสุนัขกำลังกิน และอย่ายุ่งกับสุนัขนอกบ้านหรือที่ไม่ทราบประวัติ 

2. กรณีถูกกัด ให้รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง ใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น เบตาดีน และรีบไปพบแพทย์โดยทันที เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคอย่างเหมาะสม รวมถึงกักขังสัตว์ที่กัดสังเกตอาการอย่างน้อย 10 วัน หากสัตว์ตัวนั้นมีอาการปกติแสดงว่าอาจไม่มีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า แต่หากสุนัขหรือแมวเสียชีวิต ให้รีบแจ้งผู้นำชุมชนที่อยู่ใกล้ที่สุด และแจ้งปศุสัตว์ในพื้นที่ เพื่อส่งหัวสัตว์ที่สงสัยตรวจหาเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าทางห้องปฏิบัติการ

3. หลังจากถูกกัด ควรรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่องครบชุดตามเวลาที่แพทย์นัด

ข้อปฏิบัติสำหรับเจ้าของสัตว์เลี้ยง ควรนำสัตว์เลี้ยงของตนเองไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เมื่อสัตว์เลี้ยงมีอายุ 2-3 เดือนขึ้นไป 2 เข็ม  และฉีดวัคซีนเป็นประจำทุกปี ๆ ละ 1 เข็ม  และหากพบเห็นสัตว์ที่สงสัยว่าอาจเป็นโรคพิษสุนัขบ้า คือมีอาการหางตก เดินโซเซ น้ำลายย้อย ลิ้นห้อย ตาขวาง ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ หรือผู้นำชุมชนทันที นอกจากนี้ การขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง ไม่ปล่อยทิ้งให้เป็นสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของ ก็เป็นอีกวิธีที่ประชาชนสามารถช่วยแก้ปัญหาได้

โรคพิษสุนัขบ้าน อันตรายและใกล้ตัวมากกว่าที่คิด สิ่งสำคัญ คือ ต้องรู้จักวิธีป้องกันไม่ให้สุนัขกัดหรือทำร้าย ด้วย ทริค 5 ย. จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าได้

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *