สายกินต้องระวัง ถ้าไม่อยากเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง

0

หนึ่งในกิจกรรมยอดฮิตของหลาย ๆ คนช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ คือ การไปปาร์ตี้หรือกินเลี้ยงสังสรรค์กับญาติสนิทมิตรสหาย เรียกว่ากินดื่มกันเต็มที่ อย่างไรก็ตาม เพื่อสุขภาพที่ดี ห่างไกลโรค ต้องระมัดระวังในการกิน เพราะหากตามใจปากอาจนำไปสู่ความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงได้

มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงเป็นมะเร็ง ที่พบมากเป็นอันดับต้น ๆ ของหลายประเทศทั่วโลก ด้วยวิถีการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปของประชากรส่งผลให้แนวโน้มอุบัติการณ์การเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นำมาสู่สาเหตุการตายและปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญซึ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี สำหรับประเทศไทยมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงเป็น 1 ใน 5 ของมะเร็งที่พบมากในคนไทย มีอัตราการเกิดโรคสูงขึ้นทุกปี ปัจจุบันพบมากเป็นอันดับ 3 ในเพศชาย และอันดับ 2 ในเพศหญิง

ปัจจุบันวิถีชีวิตของคนไทยเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมากโดยเฉพาะพฤติกรรมการบริโภค เช่น อาหารไขมันสูง อาหารฟาสต์ฟู้ดต่าง ๆ ได้รับความนิยมมากขึ้น การกินอาหารปิ้งย่างไหม้เกรียม อาหารจากน้ำมันทอดซ้ำ และเนื้อสัตว์แปรรูป ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเกิดโรค อีกทั้งยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การขาดการออกกำลังกาย การมีภาวะอ้วนน้ำหนักเกิน ตลอดจนการมีประวัติครอบครัวหรือตนเองเป็นติ่งเนื้อในลำไส้ เป็นต้น

โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เริ่มจากการเกิดติ่งเนื้อในลำไส้ (polyp) และพัฒนาจนเป็นมะเร็งโดยใช้ระยะเวลาประมาณ 10-15 ปี มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงมักจะไม่มีอาการในระยะเริ่มแรกของโรค จะมีอาการก็ต่อเมื่อโรคลุกลามมากขึ้นจนถึงระยะสุดท้าย ส่งผลทำให้การรักษาไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร ซึ่งอาการของโรคที่พบบ่อย ได้แก่ การถ่ายอุจจาระผิดปกติ มีอาการท้องผูกสลับท้องเสีย ถ่ายอุจจาระบ่อยครั้ง ถ่ายไม่สุด ถ่ายเป็นมูกหรือ มูกปนเลือด หรืออาจถ่ายเป็นเลือดสด ขนาดลำอุจจาระเล็กลง และมีอาการปวดท้อง แน่นท้อง ท้องอืด จุกเสียด เป็นต้น

วิธีการป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง

1. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะผัก ผลไม้ อาหารที่มีกากใย ดื่มน้ำให้เพียงพอ

2. ควบคุมระบบขับถ่ายให้ถูกต้อง ฝึกการขับถ่ายให้เป็นเวลา ไม่ควรอั้นอุจจาระ เมื่อปวดควรขับถ่ายทันที

3. หลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อสัตว์ส่วนที่ไหม้เกรียม จากการปิ้ง ย่าง ทอด รมควัน ซึ่งมีสารก่อมะเร็ง

4. ลดการรับประทานอาหารประเภทไขมันสูง อาหารจากน้ำมันทอดซ้ำ และเนื้อสัตว์แปรรูป

5. ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์และออกกำลังกายเป็นประจำ

6. ลด ละ เลิกการสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

7. ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ควรรับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงโดยการตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระปีละครั้ง หากผิดปกติควรได้รับการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ กรณีพบติ่งเนื้อหรือความผิดปกติในลำไส้ใหญ่ แพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อบริเวณดังกล่าวเพื่อวินิจฉัยต่อไป นอกจากนี้ ผู้ที่มีบิดา มารดา ญาติพี่น้อง เคยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง หรือผู้ที่มีโรคเกี่ยวกับลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง ลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง ติ่งเนื้องอกในลำไส้ใหญ่ ควรได้รับการส่องกล้องตรวจลำไส้ทุก 1-10 ปี

หากพบความผิดปกติของระบบขับถ่าย หรือมีอาการของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง อย่าปล่อยผ่าน ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุและวิธีรักษา

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *