รู้จัก “โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์” โรคติดต่อร้ายแรงที่ไม่มียารักษา

0

เมื่อไม่นานนี้ ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดอันดับ 10 โรคติดเชื้อไวรัสที่อาจอุบัติขึ้นใหม่ในอนาคต ซึ่งเป็นโรคที่อาจก่อให้เกิดภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข และปัจจุบันยังไม่มีมาตรการป้องกันหรือการรักษาที่เพียงพอ หนึ่งในลิสต์ คือ “โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์”

โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ (Nipah virus diseases) เป็นโรคจากเชื้อไวรัสที่มีรายงานการระบาดครั้งแรกในประเทศมาเลเซีย ในปี พ.ศ. 2541-2542 และมีรายงานการระบาดที่สิงค์โปร์ อินเดีย บังคลาเทศ ในช่วงปี พ.ศ. 2542-2544 ล่าสุดมีรายงานการระบาดอีกครั้งที่ประเทศอินเดียในปี พ.ศ. 2561 แต่ยังไม่มีรายงานการระบาดในประเทศไทย เชื้อไวรัสนิปาห์นี้สามารถทำให้เกิดโรคทั้งในคนและสัตว์ โดยทำให้เกิดการติดเชื้ออย่างรุนแรงของระบบหายใจ สมองอักเสบและทำให้ตายได้

ไวรัสนิปาห์ (Nipah virus) เป็นเชื้อไวรัสชนิด RNA ในสกุล Henipaviruses วงศ์ Paramyxovidae ซึ่งก่อให้เกิดโรคไข้สมองอักเสบเป็นหลัก โดยอยู่สกุลเดียวกับเฮนดราไวรัส (Hendra virus) ซึ่งก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจเป็นหลัก โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์เป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์สู่คน เกิดจากการสัมผัสมูลสัตว์และสารคัดหลั่งของสัตว์พาหะนําโรคที่ติดเชื้อ โดยมีค้างคาวผลไม้ (Pteropus) เป็นแหล่งรังโรคตามธรรมชาติ ซึ่งไม่แสดงอาการป่วย ส่วนสัตว์ที่สามารถติดเชื้อไวรัสนิปาห์ได้ คือ สุกร สุนัข แพะ แมว ม้า และแกะ ซึ่งถือเป็นแหล่งเพาะโรค

ส่วนการติดต่อระหว่างคนสู่คนเกิดจากการสัมผัสกับสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย หรือเลือดของคนที่ติดเชื้อ มีระยะฟักตัวของโรคประมาณ 2-14 วัน หรืออาจจะถึง 1 เดือนหรือมากกว่านั้น ผู้ป่วยจะมีอาการเริ่มแรกคล้ายไข้หวัด คือ มีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ อาเจียน บางรายอาจมีอาการของระบบทางเดินหายใจร่วมด้วย สมองอักเสบ หรืออาจมีอาการไข้ร่วมกับอาการทางระบบประสาท เช่น วิงเวียนศีรษะ เดินโซเซ ซึม สับสน หรือชัก มีการเคลื่อนไหวของลูกตาผิดปกติ แขนและขามีการกระตุก และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

ลักษณะที่สำคัญอีกประการของการติดเชื้อไวรัสนิปาห์คือ สามารถกลับเป็นซ้ำ หรือเป็นภายหลังได้ จากการศึกษาของ Chong Tin Tan และคณะ พบว่าผู้ป่วยร้อยละ 7.5 มีอาการกลับเป็นซ้ำหลังจากหายแล้ว และร้อยละ 3.4 ไม่แสดงอาการทางระบบประสาทในการติดเชื้อช่วงแรกแต่มีอาการในภายหลัง โดยมีรายงานแสดงอาการได้นานถึง 11 ปีหลังจากการติดเชื้อ นอกจากนี้ผู้ติดเชื้อบางคนมีผลกระทบระยะยาวคือ ลมชัก และพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง นอกจากอาการทางระบบประสาทแล้ว ผู้ติดเชื้ออาจมีอาการของระบบทางเดินหายใจร่วมด้วย

การป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์

1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์รังโรคและสัตว์พาหะนําโรค

2. หลีกเลี่ยงการรับประทานผลไม้ที่มีโอกาสปนเปื้อนน้ำลาย ปัสสาวะ มูลค้างคาวและสารคัดหลั่งของสัตว์พาหะนําโรค ไม่รับประทานผลไม้ที่ตกอยู่ที่พื้น หรือมีรอยกัดแทะ

3. ล้างผลไม้ให้สะอาดก่อนรับประทานทุกครั้ง

4. ล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาดหลังสัมผัสกับสัตว์เนื้อสัตว์ซากสัตว์ทุกครั้ง โดยเฉพาะซากค้างคาว สุกร ม้า แมว แพะ แกะ

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ การรักษาเป็นการรักษาตามอาการของโรค ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงทุกความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดการติดเชื้อไวรัสนิปาห์เพื่อความปลอดภัยห่างไกลโรค

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *