“ลีเจียนแนร์” โรคอันตรายถึงชีวิตที่หลายคนไม่รู้จัก

0

เมื่อไม่นานนี้ ใครที่ติดตามข่าวสุขภาพคงได้ยินได้เห็นกันบ้างกับข่าวการการระบาดของโรคลีเจียนแนร์ ในประเทศอาร์เจนตินา โดยพบผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบ 11 ราย และในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 4 ราย แม้จะไม่ใช่บ้านเราแต่การป้องกันย่อมดีกว่าการแก้ไข ว่าแล้วมาทำความรู้จักโรคลีเจียนแนร์กันเถอะ

โรคลีเจียนแนร์ (Legionnaires disease) เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียชนิดเฉียบพลันจากสิ่งแวดล้อม เชื้อก่อโรค ได้แก่ เชื้อแบคทีเรีย ลีเจียนแนลลา นิวโมฟิ ลลา (Legionella pneumophilla) ซึ่งมีหลายสายพันธุ์ พบได้ทั่วไปในแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีอุณหภูมิ 32-45 องศาเซลเซียส รวมถึงบริเวณที่มีน้ำขังนิ่ง มีความชื้นสูงและมีอุณหภูมิค่อนข้างสูง เช่น ในระบบเครื่องปรับอากาศหรือถังเก็บน้ำระบายความร้อน ในก๊อกน้ำ เครื่องทำน้ำร้อน และฝักบัวอาบน้ำที่ไม่สะอาด สามารถมีชีวิตอยู่ได้นานหลายเดือนในสิ่งแวดล้อมที่มีความชื้นสูงและแบ่งตัวในที่ที่มีสาหร่ายและอินทรีย์วัตถุ

การติดต่อ และรับเชื้อเกิดจากการหายใจเอาละอองฝอยของเหลว หรือละอองฝอยของน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อนี้ เช่น น้ำจากหอหล่อเย็น (cooling towers) ของระบบปรับอากาศ น้ำฝักบัวอาบน้ำ อ่างน้ำวน เครื่องช่วยหายใจ และน้ำพุประดับอาคาร สถานที่ต่าง ๆ รวมถึงสำลักน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ โดยเฉพาะผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้สูงอายุที่มีโรคเรื้อรัง หรือผู้สูบบุหรี่หนัก ทั้งนี้ยังไม่เคยพบการแพร่เชื้อจากคนสู่คน

สถานการณ์โรคลีเจียนแนร์ในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2556-ปัจจุบัน พบผู้ป่วยสะสม 131 ราย เสียชีวิต 1 รายในปี 2563 พบผู้ป่วยรายล่าสุดเมื่อปี 2564 อายุเฉลี่ย 62 ปี (อายุต่ำสุด 23 ปี และอายุสูงสุด 85 ปี) ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเพศชายวัยกลางคนถึงสูงอายุ และเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย

อาการป่วยของโรคนี้จะแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ อาการเบาไปจนถึงอาการหนัก โดยอาการเบาจะมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ คือ มีไข้ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ ไอ คลื่นไส้อาเจียน เรียกว่า โรคไข้ปอนเตียก (Pontiac fever) แต่หากติดเชื้อลงไปที่ปอด ทำให้ปอดอักเสบ มีไข้สูง ไอ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย และอาจเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิต จะเรียกว่าโรคลีเจียนแนร์ หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอาจเกิดระบบทางเดินหายใจล้มเหลวได้ ส่วนผู้ป่วยไข้ปอนเตียกจะสามารถหายได้เองและไม่มีอาการปอดอักเสบหรือรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต

สำหรับระยะฟักตัวของโรคลีเจียนแนร์ จะปรากฏอาการในช่วง 2-10 วันหลังได้รับเชื้อ แต่ส่วนใหญ่จะปรากฏอาการภายใน 5-6 วัน โรคไข้ปอนเตียกจะปรากฏอาการในช่วง 5-72 ชั่วโมงหลังได้รับเชื้อ แต่ส่วนใหญ่จะปรากฏอาการภายใน 24-48 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม โรคลีเจียนแนร์ไม่ใช่โรคใหม่ และไม่ได้เกิดขึ้นได้ง่าย การแพร่ระบาดมักอยู่ในวงจำกัดเฉพาะผู้ที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมเดียวกัน วิธีป้องกัน คือ จัดการระบบคลอรีนในน้ำประปา ตรวจสอบระบบน้ำร้อนรวม ระบบปรับอากาศ อุปกรณ์ในห้องน้ำ ให้เป็นไปตามมาตรฐาน ทำความสะอาดสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์น้ำอย่างสม่ำเสมอ

ทั้งนี้ หากสงสัยว่าป่วยด้วยโรคลีเจียนแนร์ ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยโรคและรักษาอย่างถูกต้อง หากคุณมีสุขภาพแข็งแรงดี ไม่ใช่ผู้ผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำและผู้สูงอายุที่มีโรคเรื้อรัง ใช้เวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์ก็หายขาด

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *