“โอมิครอน” อาการน้อยแต่ระบาดเร็ว ไม่อยากเสี่ยง การ์ดอย่าตก!

0

ได้ชื่อว่าเป็นไวรัสโควิดกลายพันธุ์ที่กำลังเป็นที่สนใจตัวล่าสุด ณ ขณะนี้ สำหรับ “โอมิครอน” (หรืออาจได้ยินในชื่อ โอไมครอน) เนื่องจากมีการแพร่เชื้ออย่างรวดเร็วและกระจายไปในหลายประเทศทั่วโลก คำถามคือโควิดกลายพันธุ์ชนิดนี้มีลักษณะเด่นอย่างไร? และสามารถป้องกันได้หรือไม่?

องค์การอนามัยโลก ประกาศให้ โควิดสายพันธุ์โอมิครอน (B.1.1.529) เป็นเชื้อโควิดกลายพันธุ์ชนิดใหม่ อยู่ในกลุ่มสายพันธุ์ที่น่ากังวล เป็นสายพันธุ์ที่พบทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา โดยพบว่ามีการแพร่ระบาดไปตามจุดต่าง ๆ ทั่วโลก หลายประเทศตรวจพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์นี้ภายในไม่กี่วัน เนื่องจากสายพันธุ์นี้แพร่ระบาดได้เร็วกว่า 2-5 เท่า ส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้อไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย แต่แยกยากจากสายพันธุ์อื่น มาตรการป้องกันที่สำคัญ ต้องฉีดวัคซีนโควิดให้ครอบคลุมที่สุด

สำหรับเคสในประเทศไทยที่ยืนยันว่าเป็นรายแรกของสายพันธุ์โอมิครอน เป็นเพศชายอายุ 35 ปี เป็นนักธุรกิจสัญชาติอเมริกาอาศัยอยู่ในสเปนมา 1 ปี เดินทางมาประเทศไทยวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 และเข้ารับการตรวจอีกครั้ง ได้รับรายงานว่าพบเชื้อเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2564 พบค่าตรวจ CT ค่อนข้างสูง และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ผู้ป่วยมีอาการน้อยมาก ปฏิเสธโรคประจำตัว ไม่มีประวัติการตรวจพบเชื้อมาก่อน

ในส่วนของการป้องกันตนเองเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอน หลักการก็เช่นเดียวกับการควบคุมการแพร่ระบาดโควิดสายพันธุ์อื่น ๆ ดังนี้

1. ฉีดวัคซีนโควิดให้ครบ 2 เข็ม จากนั้นควรรับวัคซีนเข็ม 3 หรือ Booster Dose โดยเว้นระยะห่าง 3 เดือนจากเข็มที่ 2 (แม้ผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้ว ยังสามารถติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนนี้ได้ แต่มีอาการน้อย หรือแทบจะไม่แสดงอาการ เรียกได้ว่าวัคซีนยังคงได้ผลในแง่ของการป้องกันความรุนแรงของโรค)

2. ควรสวมหน้ากากอนามัยที่ได้มาตรฐานหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา และสวมให้ถูกวิธี โดยให้ปิดจมูกและคลุมใต้คาง แนบกระชับกับใบหน้า ควรเปลี่ยนหน้ากากทุก 6 – 8 ชั่วโมง หรือเมื่อเปียกชื้น สกปรก รวมถึงเมื่อออกจากสถานที่แออัด

3. หากต้องอยู่ในสถานที่แออัด มีการระบายอากาศไม่ดีเป็นเวลานาน หรือต้องสัมผัสใกล้ชิดกับผู้มีความเสี่ยงสูง ควรสวมหน้ากาก 2 ชั้น โดยสวมหน้ากากอนามัยก่อนแล้วสวมทับด้วยหน้ากากผ้า

4. มีการเว้นระยะห่างระหว่างกัน

5. ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์

6. หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า ตา จมูก และปาก ซึ่งเป็นพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายยิ่งขึ้น

สำหรับการเดินทางโดยขนส่งสาธารณะที่ไม่สามารถดำเนินมาตรการเว้นระยะห่าง หรือมีการระบายอากาศที่ไม่ดี ขณะใช้บริการควรสวมหน้ากากตลอดเวลา ลดการพูดคุย งดกินอาหารและเครื่องดื่มขณะเดินทาง ให้ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ หลังมีการสัมผัสจุดเสี่ยงร่วมกัน เมื่อกลับถึงบ้านควรอาบน้ำและเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกัน

แม้ขณะนี้การแพร่เชื้อสายพันธุ์โอมิครอนในบ้านเรายังไม่รุนแรง แต่ทุกคนควรตระหนักในเรื่องการป้องกันตนเองขั้นสูงสุดตลอดเวลา โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีโรคประจำตัว

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *