ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อน สภาพอากาศที่ร้อนจัดในช่วงกลางวันอาจทำให้ง่ายต่อการเจ็บป่วยจากโรคลมแดด หรือโรคฮีทสโตรก ซึ่งภาวะนี้อาจรุนแรงถึงขั้นที่ทำให้เสียชีวิตได้ ไม่อยากให้สมาชิกในบ้านกลายเป็นผู้ป่วย นี่คือ เคล็ดลับลดเสี่ยงป่วยโรคลมแดด เพื่อทุกคนในครอบครัว
โรคลมแดด หรือโรคฮีทสโตรก (Heat stroke) เป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัว หรือควบคุมระดับความร้อนในร่างกายได้ ทำให้ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อยๆ จนเกิน 40 องศาเซลเซียส ทำให้ตัวร้อน หน้ามืด กระสับกระส่าย หายใจเร็ว มึนงง หัวใจเต้นผิดจังหวะ ชักเกร็ง ช็อก จนถึงขั้นหมดสติ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้เสียชีวิตได้
สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่ง่ายต่อการป่วยเป็นโรคลมแดด ได้แก่
1. ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดด เช่น เล่นกีฬา ผู้ใช้แรงงานกลางแจ้ง เช่น เกษตรกร คนงานก่อสร้าง
2. เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และผู้สูงอายุ
3. ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง
4. ผู้ที่มีภาวะอ้วน
5. ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ
6. ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก
เคล็ดลับลดเสี่ยงป่วยโรคลมแดด เพื่อทุกคนในครอบครัว
1. สวมใส่เสื้อผ้าสีอ่อน ระบายความร้อนได้ดี
2. อยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก
3. หลีกเลี่ยงทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงกลางแจ้งนานๆ ให้ทำในตอนเช้าหรือตอนเย็นเมื่ออุณหภูมิเย็นลง
4. หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหนักในที่อากาศร้อนและถ่ายเทไม่สะดวก ควรออกกำลังกายในช่วงเช้า หรือช่วงเย็น
5. สวมแว่นกันแดด กางร่ม สวมหมวกปีกกว้าง
6. ดื่มน้ำมากกว่าปกติ เพื่อชดเชยการเสียน้ำในร่างกาย ร่างกายสามารถทำตัวให้เย็นลงได้ตามธรรมชาติผ่านทางเหงื่อ
7. ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เพราะจะไปเพิ่มการขับน้ำทางปัสสาวะ ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่มากขึ้น
8. อย่าทิ้งเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือสัตว์เลี้ยงไว้ในรถที่จอดไว้กลางแจ้ง ถึงแม้จะเปิดกระจกทิ้งไว้หรือจอดรถยนต์ไว้ในที่ร่มก็ตาม เนื่องจากอุณหภูมิภายในรถจะสูงกว่าภายนอก อีกทั้งอุณหภูมิในรถยนต์สามารถร้อนจัดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว
หากพบผู้ป่วยจากภาวะอากาศร้อนให้ช่วยเหลือเบื้องต้น ดังนี้
1. นำผู้มีอาการเข้าร่ม นอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง ถอดเสื้อผ้าชั้นนอกออก
2. เทน้ำเย็นราดลงบนตัวเพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้ลดต่ำลงโดยเร็วที่สุด
3. ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ
4. ไม่ควรใช้ผ้าเปียกคลุมตัวเพราะจะขัดขวางการระเหยของน้ำออกจากร่างกาย
5. รีบนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดหรือโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือสายด่วน 1669 ทันที
ทั้งนี้หากผู้ป่วยโรคลมแดดไม่ได้รับการรักษาโดยทันที อาจเกิดอาการที่รุนแรงและบางครั้งอาจไม่กลับมาเป็นปกติได้ ยิ่งผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษานานเท่าใด โอกาสในการเสียชีวิตจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น