เช็กสาเหตุ-อาการ-วิธีรักษา…ภาวะสมองน้อยฝ่อ

0

สมองน้อย หรือมีชื่อเรียกว่า Cerebellar ทำหน้าที่ในการควบคุมและเชื่อมประสานส่วนต่างๆ ของร่างกาย เพื่อให้สามารถเคลื่อนไหวได้ต่อเนื่องราบรื่น หากเกิดความผิดปกติกับสมองส่วนดังกล่าว จะทำให้ผู้ป่วยทรงตัวลำบาก พูดลำบาก มองหรือฟังผ่านๆ อาจจะคล้ายอาการของคนเมา

ภาวะสมองน้อยฝ่อ หรือ ภาวะกล้ามเนื้อเสียสหการ เกิดได้จากหลายสาเหตุ มีทั้งที่สามารถรักษาได้และยังไม่พบวิธีการรักษา กระบวนการตรวจวินิจฉัยเพื่อค้นหาให้พบสาเหตุ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งสาเหตุที่พบ ได้แก่ ภาวะฝ่อจากความเสื่อม (Degeneration) ภาวะฝ่อจากภูมิคุ้มกันผิดปกติ (Immune-mediated) ภาวะฝ่อจากยาหรือสารต่างๆ (Drug-induced) ภาวะฝ่อไม่ทราบสาเหตุ (Idiopathic) แต่ในทางปฏิบัติเราไม่สามารถตรวจจนพบสาเหตุได้ทั้งหมด บางครั้งต้องอาศัยการตรวจติดตาม การลองให้การรักษาและติดตามผลลัพธ์

ภาวะสมองน้อยฝ่อ ทำให้สมองสูญเสียการควบคุมกล้ามเนื้อไปทีละน้อย จนไม่อาจรักษาสมดุลของร่างกายได้ อาทิ มีอาการเดินเซ หรือต้องการจับปากกา แต่ไม่สามารถทำได้ มีอาการพูดไม่ชัด ซึ่งอาการเหล่านี้ เมื่อเวลาผ่านไป ก็ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น วิธีสังเกตอาการขั้นต้น คือ ถ้ามีอาการเดินเซ ปากสั่น มือสั่น ไม่ว่าจะเป็นอาการใดอาการหนึ่ง หรืออาการทั้งหมดรวมกัน ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่านั่น คือ อาการของโรคสมองน้อยฝ่อ และควรรีบไปพบแพทย์ทันที

ลักษณะอาการของผู้ป่วยจะมีความผิดปกติของการทรงตัว ไม่ว่าจะเป็นในขณะอยู่กับที่หรือขณะมีการเคลื่อนไหว รวมถึงลักษณะของเสียงพูดที่จะมียืดยานสลับกับรวบคำที่ผิดปกติไป โดยลักษณะทั้งหมดจะมองดูคล้ายกับการเคลื่อนไหวและการพูดของคนเมา โดยอาการทั้งหมดจะไม่แตกต่างกันถึงแม้จะเกิดจากคนละสาเหตุ สิ่งที่จะช่วยในการวินิจฉัยแยกโรค จึงอาศัยจากลักษณะและอาการร่วมอย่างอื่นๆ เช่น ระยะเวลาในการเกิดและการดำเนินโรค อาการร่วมอื่นๆ ยาหรือสารเคมีที่ใช้หรือสัมผัสเป็นประจำ เป็นต้น

ตัวโรคสามารถให้การวินิจฉัยได้จากการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และการถ่ายภาพเอกซเรย์สมอง เพื่อยืนยันการวินิจฉัย หลังจากนั้นจึงจะจะมีการตรวจเพิ่มเติมด้วยการตรวจเลือดและน้ำไขสันหลัง ในกรณีที่สงสัยสาเหตุจากภาวะความผิดปกติทางภูมิคุ้มกัน เพราะเป็นเพียงสาเหตุเดียวที่พอจะมีวิธีการหยุดยั้งหรือทุเลาอาการฝ่อได้ ด้วยการให้ยากดภูมิคุ้มกัน

เคล็ดลับชะลอความเสื่อมของเซลล์สมอง

1. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ เพื่อให้ได้รับสารอาหารในปริมาณที่เหมาะสมตามวัย

2. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ การพักผ่อนที่ไม่เพียงพอจะส่งผลต่อการทำงานของสมอง

3. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์

4. จัดการและลดความเครียด โดยการทำกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายความเครียด

5. ลด ละ เลิกการสูบบุหรี่รวมถึงการดื่มแอลกอฮอล์

แม้ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาที่ทำให้โรคสมองน้อยฝ่อหายขาดได้ และยังไม่มีวิธีฟื้นฟูร่างกายผู้ป่วยให้กลับเป็นปกติดังเดิมด้วย แต่หากตรวจพบเร็ว ก็อาจช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์สมองออกไปได้

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *