รวมกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการทางสังคม-อารมณ์ สำหรับเด็กแรกเกิด-6 เดือน

0

สิ่งหนึ่งที่พ่อแม่และผู้ใหญ่หลายคนต้องการ คือ อยากให้เด็กน้อยที่ตนเลี้ยงดูเติบโตขึ้นเป็นคนที่มีอารมณ์มั่นคง รับมือกับความเครียดในชีวิตประจำวันได้ และสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างราบรื่นและมีความสุข แต่คำถามคือ จะทำอย่างไรที่จะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการด้านอารมณ์และสังคมที่ดีได้?

พัฒนาการทางสังคมและอารมณ์เป็นพัฒนาการที่สำคัญ พัฒนาการทางด้านอารมณ์ของเด็กเริ่มขึ้นตั้งแต่แรกเกิด โดยมีปัจจัยทางด้านชีวภาพ สิ่งแวดล้อม การเลี้ยงดู พันธุกรรม และพื้นอารมณ์ของเด็กเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ส่วนพัฒนาการด้านสังคมเกิดขึ้นตั้งแต่วัยทารกเช่นกัน หากทารกได้รับการตอบสนองอย่างเหมาะสม จะมีความไว้วางใจผู้เลี้ยงดู ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของพัฒนาการด้านสังคมที่สำคัญ เมื่ออายุมากขึ้นเด็กจะมีการพัฒนาที่ซับซ้อนมากขึ้น

เด็กแรกเกิดถึงอายุ 6 เดือน ทารกในช่วงวัยนี้ใช้วิธีร้องไห้เพื่อสื่อความหมายให้รู้ว่าเขาหิวและไม่สบายตัว มักจะหยุดร้องไห้เมื่อผู้เลี้ยงดูปลอบโยน ชอบจ้องหน้าและสบตาผู้เลี้ยงดู แต่เพียงแค่ 2-3 วินาที จะส่งเสียงในลำคอเวลาสบายใจ เมื่ออายุ 2–3 เดือน จะยิ้ม หัวเราะและทำเสียงเอิ๊กอ๊ากเมื่อมีความสุข และชอบให้ผู้ใหญ่ที่คุ้นเคยอุ้ม โอบกอดและเห่กล่อม

เบบี๋วัยนี้เล่นกับเด็กหรือคนแปลกหน้าได้ แต่ก็อาจงอแงเป็นบางครั้งเวลาที่อยากให้ผู้เลี้ยงดูสนใจ เมื่ออายุประมาณ 5 เดือนเขาจะหยุดร้องไห้ได้เวลาที่ผู้เลี้ยงดูคุยด้วย ทารกน้อยมักปีนบนตัวผู้เลี้ยงดู ชอบให้ผู้เลี้ยงดูกอด ชอบเล่นมือเท้า นิ้วมือและนิ้วเท้าของตัวเอง จำเสียงคนที่คุ้นเคยได้ ทารกมักจะอมนิ้วหรือมือของเขาเพื่อทำให้ตนเองสบายใจขึ้น

กิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการทางสังคม-อารมณ์ สำหรับเด็กแรกเกิดถึงอายุ 6 เดือน

– ร้องเพลงกล่อมเด็ก พูดคุยกับเจ้าตัวเล็กด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยน

– ให้ทารกฟังเสียงที่อ่อนโยนหลากหลายชนิด เช่น ของเล่นที่มีเสียงดนตรีหรือกรุ๋งกริ๋ง

– อุ้มทารกให้หันหน้ามาหาผู้เลี้ยงดู สบตา ยิ้ม และพูดคุยกับเขา เช่น หนูเป็นเด็กน่ารักและแม่ก็รักหนูมาก ในขณะเดียวกันก็สัมผัสแด็กน้อยอย่างอ่อนโยน

– ผู้เลี้ยงดูควรอุ้มและปลอบโยนเวลาที่เบบี๋ร้องไห้ เพราะเจ้าตัวเล็กอาจจะหิวหรือรู้สึกไม่สบายตัว

– พูดคุยกับทารกน้อย ถึงสิ่งที่เขามองเห็น ได้ยินและสัมผัสด้วยเสียงที่เบาและอ่อนโยนระหว่างที่ดูแลเขา เช่น ปูอนนม เปลี่ยนผ้าอ้อม พูดคุยกับเจ้าตัวเล็ก ถึงสิ่งที่เขาชอบหรือไม่ชอบ เช่น หนูไม่ชอบเสียงดัง หนูชอบนมอุ่นๆ

– พาเบบี๋ไปสถานที่ใหม่ๆ หรือพบสิ่งต่างๆ โดยมีผู้เลี้ยงดูคอยดูแลความปลอดภัยให้เขา

– ชมเชยเจ้าตัวเล็กบ่อยๆ โดยพูดกับเขาว่า หนูช่างเป็นเด็กที่น่ารักและแข็งแรง และแม่ก็รักหนูมาก

– เล่นเกมส์ง่ายๆ กับทารกน้อย เช่น เล่นจ๊ะเอ๋ โดยผู้เลี้ยงดูอาจใช้ผ้าบังหน้า

– ให้เด็กน้อยได้เล่นของเล่นที่หลากหลาย และปลอดภัย เช่น ภาชนะพลาสติก และช้อนไม้เพื่อเรียนรู้สิ่งต่างๆ

– วัยนี้ไม่ถือว่าเร็วเกินไปที่จะเริ่มอ่านหนังสือกับเขา โดยหาหนังสือภาพและพูดคุยเกี่ยวกับภาพที่เขาเห็นในขณะที่กอดเขา

– เรียนรู้ภาษาของทารกน้อย เมื่อเขาพยายามพูดและแสดงท่าทางให้รู้ว่ากำลังรู้สึกอย่างไร เช่น มีความสุข หิว หรือไม่สบายตัว

– โอบกอดและเห่กล่อมเบบี๋เบาๆ ตามจังหวะของเสียงเพลง เด็กวัยนี้ชอบถูกเห่กล่อมและได้ใกล้ชิดกับผู้เลี้ยงดู

การดูแลให้เบบี๋ได้ทำกิจกรรมข้างต้นอย่างเหมาะสมและสมวัย จะช่วยให้เด็กน้อยมีอารมณ์ ที่เป็นสุข มั่นคง มีสัมพันธภาพที่ดีกับบุคคลอื่น สามารถปรับตัวให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *