“ภาวะตาปิดเกร็ง” สัญญาณเตือนเรื่องสุขภาพที่ต้องใส่ใจ

0

เมื่อเกิดภาวะตาปิดเกร็ง อาการหนังตากระตุก นอกจากสร้างความรู้สึกรำคาญแล้ว เชื่อว่าหลายคน โดยเฉพาะสายมู มักโฟกัสไปในเรื่องของลางบอกเหตุ มากกว่าที่จะมาคิดว่าอาการนี้เกี่ยวพันกับเรื่องสุขภาพ ทั้งที่แท้จริงแล้ว ภาวะตาปิดเกร็ง หนังตากระตุก เป็นสัญญาณบอกโรคที่ไม่ควรมองข้าม

ภาวะตาปิดเกร็ง (Blepharospasm) เป็นกลุ่มโรคเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวผิดปกติของเปลือกตา เป็นส่วนหนึ่งของอาการ focal dystonia ซึ่งเป็นภาวะความผิดปกติที่เกิดจากอาการเกร็งของกล้ามเนื้อดวงตา พบอุบัติการณ์ได้ประมาณ 5 คนต่อประชากร 100,000 คน มักพบในผู้ป่วยเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และช่วงอายุที่พบบ่อยคือ ช่วงอายุประมาณ 40-60 ปี มักเกิดขึ้นพร้อมกันทั้ง 2 ตา

อาการเริ่มต้นของภาวะตาปิดเกร็ง คือ มีการกระพริบตาบ่อยครั้ง ผู้ป่วยมักให้ประวัติว่ารู้สึกเคืองตาแสบตา จากนั้นจะเริ่มมีอาการเกร็งหรือรู้สึกดึงรั้ง หรือแน่นรอบดวงตาโดยเกิดขึ้นทั้งด้านบนและด้านล่าง ทำให้มีความลำบากในการลืมตา ตาเริ่มหรี่แคบลงจนถึงตาเปิดไม่ได้ชั่วขณะ อาการจะเป็น ๆ หาย ๆ โดยระยะเวลาที่เกิดเป็นวินาทีถึงหลายนาทีได้ 

หากภาวะตาปิดเกร็งรุนแรงมากขึ้น ผู้ป่วยมีเปลือกตาหดเกร็งรุนแรงจนลืมตาได้ลําบากอาจส่งผลต่อกิจวัตรประจำวัน เช่น การขับรถ (ผู้ป่วยจึงควรหลีกเลี่ยงการขับรถ หากยังคุมอาการได้ไม่ดีพอ), อ่านหนังสือ, เดินซื้อของ การหดเกร็งรุนแรงจนตาปิดนี้อาจคงอยู่นานเป็นวินาที นาที หรือแม้แต่เป็นชั่วโมงได้ การหดเกร็งนี้จะไม่เกิดขึ้นตอนนอนหลับ และหลังจากได้นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพออาจช่วยลดอาการหดเกร็งได้นานหลายชั่วโมง

การโดนแสงแดดหรือไฟสว่างจ้า ความเครียดวิตกกังวล มักกระตุ้นให้เกิดอาการมากขึ้น ผู้ป่วยอาจมี sensory trick หรือการบรรเทาอาการจากการสัมผัสเบา ๆ ที่บริเวณอื่น เช่น หางตาหรือแก้มแล้วทำให้กล้ามเนื้อรอบดวงตาคลายตัว พบได้ในระยะแรกของโรค จากนั้นอาการจะค่อย ๆ หายไป ผู้ป่วยควรมาพบแพทย์ประเมินหาสาเหตุ เพื่อการรักษาที่ถูกต้องต่อไป

ผู้ป่วยจะมีอาการ ภาวะอื่นที่อาจมีอาการคล้าย Blepharospasm เช่น หนังตาตกจากกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรืออาการที่ไม่สามารถเปิดตาได้จากสมองส่วนกลาง หรือใบหน้ากระตุกครึ่งซีก เป็นต้น การแยกโรคต้องอาศัยแพทย์ในการตรวจวินิจฉัย นอกจากนี้ Blepharospasm อาจเป็นส่วนหนึ่งของอาการเกร็งของใบหน้าคือ พบร่วมกับอาการเกร็งบริเวณปาก หรือในบางรายอาการเกร็งอาจลามถึงบริเวณคอหรือทั้งร่างกาย

การรักษาด้วยการรับประทานยาไม่ค่อยได้ประสิทธิภาพ ผู้ป่วยอาจได้รับผลข้างเคียงจากยาลดอาการเกร็ง เช่น ง่วงนอน ปากคอแห้ง อาการสับสน เป็นต้น ในปัจจุบันการรักษาจึงเน้นยา ที่ออกฤทธิ์เฉพาะที่และไม่มีผลข้างเคียง การฉีดยาโบทูลินัม จึงเป็นการรักษาที่ใช้ในผู้ป่วยเพื่อลดอาการเกร็งรอบดวงตา  ได้นาน 3-6 เดือนต่อการฉีด 1 ครั้ง ซึ่งมีผลข้างเคียงค่อนข้างน้อยและหายได้เองเมื่อยาหมดฤทธิ์

อย่างไรก็ตาม การฉีดโบทูลินัมไม่ได้ทำให้หายขาดจากโรค เป็นเพียงการรักษาตามอาการเท่านั้น ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้อาการแย่ลง และเฝ้าระวังอาการทางระบบประสาทอื่น ๆ ด้วย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *