รู้จัก “มะเร็งรังไข่”..เช็คซิ! คุณเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือไม่?

0

ในประเทศไทย มะเร็งรังไข่เป็นมะเร็งของอวัยวะสืบพันธุ์สตรีที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 3 รองจากมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งมดลูก จากข้อมูล Cancer In Thailand Vol.X ปี 2016–2018 พบว่า คนไทยป่วยเป็นมะเร็งรังไข่รายใหม่ ปีละประมาณ 2,900 ราย ว่าแล้วมาเติมความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งรังไข่เพื่อพร้อมรับมือกันเถอะ

มะเร็งรังไข่ เป็นมะเร็งที่เกิดจากการแบ่งตัวผิดปกติของเนื้อเยื่อบริเวณรังไข่ (Ovary) หรือท่อนำไข่ (Fallopian Tube) ซึ่งรังไข่ เป็นอวัยวะสำคัญในสตรีที่ทำหน้าที่ในการผลิตไข่และฮอร์โมนเพศหญิง การแบ่งตัวผิดปกตินี้เองทำให้รังไข่มีขนาดโตขึ้น ปกติผู้หญิงจะมีรังไข่สองข้าง โอกาสที่จะเกิดมะเร็งรังไข่ทั้งสองข้างพร้อม ๆ กันมีประมาณ 25% และเป็นโรคที่พบได้ตั้งแต่อายุน้อย และมีโอกาสเสี่ยงสูงมากขึ้นเมื่อผู้หญิงมีอายุ 50 ปีขึ้นไป

โดยทั่วไปผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ในระยะแรกมักจะไม่มีอาการผิดปกติ หรือมีอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจง เช่น ท้องอืด อึดอัดแน่นท้อง เบื่ออาหาร ทานอาหารได้น้อยลง น้ำหนักขึ้นหรือลดโดยไม่ทราบสาเหตุ เป็นต้น ทำให้ผู้ป่วยมากกว่า 2 ใน 3 ของผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ทั้งหมดจะมาพบแพทย์เมื่อมีอาการมากและตรวจพบว่าอยู่ในระยะลุกลามแล้ว ทำให้ผลการรักษาไม่ดี มีโอกาสเป็นโรคซ้ำหลังการรักษาสูง และมีอัตราการรอดชีพต่ำ ดังนั้น มะเร็งรังไข่จึงเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตมากที่สุดในมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์สตรีด้วยกัน

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้สตรีมีโอกาสเป็นมะเร็งรังไข่ได้สูงขึ้น ได้แก่ ผู้ที่มีภาวะอ้วน มีบุตรยาก รับประทานอาหารที่มีเส้นใยต่ำ มีภาวะขาดวิตามินเอ มีการทาแป้งฝุ่นบริเวณอวัยวะเพศ และปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญอีกอย่าง คือ สตรีที่มีการกลายพันธุ์ของยีน BRCA ซึ่งจะทำให้มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งรังไข่สูงถึง 20-40% สตรีที่มีการกลายพันธุ์ของยีนส์ BRCA จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งรังไข่และมะเร็งเต้านม ซึ่งหากตรวจพบการกลายพันธุ์ของยีนส์ดังกล่าว จะสามารถใช้วางแผนในการดูแลเพื่อป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ในสตรีที่ยังไม่เป็นโรค, การเลือกใช้ยามุ่งเป้า, รวมถึงการตรวจเพิ่มเติมเพื่อวางแผนป้องกันการเกิดโรคในญาติสายตรง

ปัจจุบันยังไม่มีการตรวจคัดกรองที่มีความเฉพาะเจาะจงและประสิทธิภาพสูงพอในการตรวจคัดกรองมะเร็งรังไข่สำหรับสตรีปกติทั่วไป ดังนั้น ในปัจจุบันยังคงแนะนำว่า สตรีทุกคนควรได้รับการตรวจภายในประจำปีอย่างสม่ำเสมอกรณีไม่มีอาการผิดปกติ แต่หากมีอาการผิดปกติใด ๆ เช่น ปวดท้องน้อย อึดอัดในช่องท้อง เลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ ท้องโตผิดปกติหรือคลำก้อนได้ในท้อง ให้รีบเข้ารับคำปรึกษาและตรวจเพิ่มเติมจากแพทย์เฉพาะทางด้านนรีเวชจะดีที่สุด

แนวทางการรักษาหลักของมะเร็งรังไข่คือ การผ่าตัดเพื่อเอาก้อนมะเร็งออกให้ได้มากที่สุด ตรวจหาการแพร่กระจายไปที่อวัยวะอื่น ๆ และเพื่อกำหนดระยะของโรค หลังจากนั้นจึงพิจารณาให้ยาเคมีบำบัดหากมีข้อบ่งชี้ ปัจจุบันนอกจากยาเคมีบำบัดแล้วยังมียามุ่งเป้า (Targeted therapy) ที่มีการให้เสริมหรือร่วมกับยาเคมีบำบัดในผู้ป่วยบางรายที่มีข้อบ่งใช้ หลังการรักษาผู้ป่วยจะได้รับการตรวจติดตามอย่างสม่ำเสมอเพื่อตรวจหาการเป็นซ้ำของโรค

เนื่องจากมะเร็งรังไข่มักวินิจฉัยได้ในระยะแพร่กระจาย ทำให้ผลการรักษาไม่ค่อยดี มีโอกาสกลับเป็นซ้ำค่อนข้างสูง สตรีจึงควรเข้ารับการตรวจภายในประจำปีอย่างสม่ำเสมอ และหากมีอาการผิดปกติที่สงสัยให้รีบปรึกษาแพทย์โดยเร็ว

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *