ควรทำอย่างไร? เมื่อลูกมีภาวะ Dyslexia สะกดคำไม่ได้ เรียนรู้คำใหม่ ๆ ได้ช้า

0

สะกดคำไม่ได้ เรียนรู้คำใหม่ ๆ ได้ช้า มีปัญหาในการจำตัวอักษร ตัวเลข และสี หากบุตรหลานของคุณประสบปัญหาเหล่านี้ นี่อาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าเด็กน้อยมีอาการ Dyslexia หากสงสัยว่าลูกมีภาวะนี้ ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพราะหากไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง เด็กจะมีปัญหาดังกล่าวไปจนโต

Dyslexia คือ ความบกพร่องในการอ่านและการเขียน จัดเป็นความผิดปกติด้านการเรียนรู้ (Learning Disorder) ประเภทหนึ่ง ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของภาวะ Dyslexia อย่างชัดเจน แต่มีแนวโน้มที่จะมีพัฒนาการทางภาษาล่าช้ากว่าวัย ซึ่งส่งผลต่อสมองส่วนที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ภาษาและการอ่านหนังสือ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่ส่งผลให้เกิดภาวะ Dyslexia ได้ (ในบางรายอาจไม่พบปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้) ดังนี้

– พันธุกรรม กล่าวคือในครอบครัวมีภาวะ Dyslexia หรือมีปัญหาด้านการเรียนรู้อื่น ๆ

– ความแตกต่างของสมองแต่ละบุคคล หรือความแตกต่างในการการรับรู้

– เด็กที่คลอดก่อนกำหนดหรือมีน้ำหนักตัวแรกเกิดต่ำกว่าปกติ 

– การได้รับยาสารเสพติด หรือแอลกอฮอล์ตั้งแต่อยู่ในครรภ์

– การเกิดภาวะติดเชื้อของมารดาที่อาจส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองของทารกในครรภ์

ผู้ที่มีภาวะ Dyslexia จะมีปัญหาในการอ่าน การเขียน หรือแม้แต่การแปลภาษาหรือสัญลักษณ์ง่าย ๆ ไม่สามารถเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้เหมือนคนทั่วไป ซึ่งโรคนี้สามารถพบได้ถึง 10% ของประชากร โดยทั่วไป อาการของ Dyslexia สังเกตได้ยากเมื่อเด็กยังไม่ได้เข้าเรียน แต่จะเห็นความผิดปกติชัดขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยเรียน ผู้ที่มีภาวะนี้จะแสดงอาการแตกต่างกันไปตามแต่ละช่วงวัย เด็กวัยอนุบาลบางรายอาจมีอาการที่สังเกตได้คือ พูดช้ากว่าเด็กวัยเดียวกัน มีปัญหาด้านการพูดและความเช้าใจภาษา ขณะที่พัฒนาการด้านอื่น ๆ สมวัย บางรายมีพฤติกรรมไม่นิ่ง วอกแวกง่ายร่วมด้วย เมื่อเด็กขึ้นประถมจะเริ่มมีอาการของภาวะนี้ให้เห็นชัดเจนขึ้น มีปัญหาเกี่ยวกับการอ่าน สะกดและเขียนหนังสือ

เด็ก Dyslexia อาจจะอ่านสะกดไม่คล่อง แต่พวกเขาก็เป็นนักคิดที่ว่องไว โดยเฉพาะการเรียนรู้ผ่านการสายตาและเชื่อมโยงเชิงมิติสัมพันธ์ (คนดังระดับโลก เช่น อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์, ปิกัสโซ่ ก็มีภาวะ Dyslexia) การเรียนรู้ผ่านการฟังและถามตอบโดยตรงจะเป็นช่องทางการเรียนรู้ที่เหมาะกับเด็กกลุ่มนี้ จึงควรมีแผนการเรียนเฉพาะบุคคลให้เหมาะกับของแต่ละคน หากได้รับการสนับสนุนที่เหมาะสม เด็กจะสามารถไปโรงเรียนเรียนร่วมกับผู้อื่นได้อย่างปกติ

ถึงแม้โรค Dyslexia นั้น จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถแก้ไขและพัฒนาได้ด้วยการให้เด็กได้ฝึกฝนการอ่านเขียน และพูดอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ หากได้รับการสนับสนุนที่เหมาะสมตั้งแต่เด็ก เมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ความสามารถในการคิดเชิงมิติสัมพันธ์ของพวกเขาจะกลายเป็นจุดแข็ง และหล่อหลอมให้เด็ก Dyslexia กลายเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าของประเทศชาติได้ในอนาคต

สิ่งสำคัญ คือ หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นความผิดปกติของลูกได้เร็ว และพาไปเข้ารับการรักษาได้เร็วเท่าไหร่ เจ้าตัวซนก็จะมีพัฒนาการที่ดีขึ้นได้เร็วเท่านั้น

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *