โรคฮีสโตพลาสโมสิส สาเหตุเกิดจากอะไร ใครบ้างที่เสี่ยง

0

สร้างความกังวลใจให้คนรักธรรมชาติไม่น้อย กับข่าวคณะเดินทางศึกษาธรรมชาติ เข้าไปในโพรงต้นไม้ใหญ่ในป่า เพื่อชมค้างคาว หลังจากนั้น 2-3 สัปดาห์ 7 ใน 10 คน มีอาการไอ อ่อนเพลีย เอกซเรย์พบมีจุดกระจายทั่วปอด ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นอาการของโรคฮีสโตพลาสโมสิส ส่วนโรคนี้จะมีสาเหตุจากอะไร เรามีคำตอบ!

โรคฮีสโตพลาสโมสิส สามารถพบได้ทั่วโลก โดยเฉพาะในแถบทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับประเทศไทยพบประปราย โรคนี้เกิดจากเชื้อราฮีสโตพลาสมา แคปซูลลาตุม ซึ่งมีอยู่ในสิ่งแวดล้อม เช่น มีในดินอยู่แล้ว แต่ปริมาณเชื้อจะมีมากในมูลของค้างคาว เมื่อคนเข้าไปในช่วงกลางวัน ค้างคาวกำลังนอนพัก การส่งเสียงดัง ทำให้ค้างคาวตกใจ ส่งเสียงร้อง เครียด ถ่ายมูล ฉี่ ทำให้เชื้อโรคที่อยู่ในมูลฟุ้งกระจายในโพรงต้นไม้ คนจะติดโรคโดยการหายใจเอาสปอร์ของเชื้อราเข้าไป

โรคฮีสโตพลาสโมสิส มีระยะฟักตัวของโรคประมาณ 3-17 วัน แสดงอาการได้หลายระบบและหลายรูปแบบ ดังนี้

1. ปอดอักเสบ เกิดได้ทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง สำหรับแบบเฉียบพลัน 90% ของผู้ที่ได้รับเชื้อไม่แสดงอาการ อีก 10% แสดงอาการภายใน 14 วันหลังได้รับเชื้อ อาการคือมีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดท้อง รายที่ได้รับเชื้อเข้าไปมากอาจปรากฏอาการ ไอ หายใจลำบาก เจ็บอก และไอเป็นเลือด แต่ส่วนใหญ่อาการจะหายไปเอง สำหรับแบบเรื้อรัง ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยสูงอายุที่มีโรคปอดเรื้อรังอยู่ก่อน ผู้ป่วยจะมีไข้เป็น ๆ หาย ๆ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด ไอ หายใจหอบ เจ็บหน้าอก เสียงแหบ อาจมีไอเป็นเลือด เอกซเรย์จะเห็นมีฝ้าที่ปอดทั้งสองข้าง เยื่อหุ้มปอดหนา และมีเงาของหินปูนหลาย ๆ แห่งในปอด บางครั้งอาจพบโพรงลมที่มีผนังหนา และเงาของหินปูนที่ม้ามด้วย

2. แผลเรื้อรัง ส่วนมากพบเป็นแผลภายในช่องปาก ลิ้น ตามใบหน้า แก้ม ดั้งจมูก เป็นทีละหลายแห่ง แผลมีลักษณะกว้าง ขอบและพื้นแผลนูน

3. ชนิดแพร่กระจาย มักพบในผู้ป่วยโรคเอดส์ โรคมะเร็งของระบบเลือด ผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกันเป็นประจำ เชื้อที่เคยได้รับเข้าไปก่อนหน้านี้จะกลับมาเจริญเติบโตและก่อโรคขึ้น อาการคือ มีไข้ ไอ เหนื่อย เบื่ออาหาร ตับ ม้าม และต่อมน้ำเหลืองโต น้ำหนักตัวลด ส่วนมากพบแผลเปื่อยภายในปาก ลำคอ กระเพาะอาหาร ลำไส้และผิวหนังด้วย แผลเหล่านี้อาจทำให้ปวดท้องและท้องร่วงเรื้อรัง ร้อยละ 15 มีอาการทางระบบประสาท เช่น เดินเซ ชัก สับสน ปวดศีรษะ คอแข็ง และจากการชันสูตรศพพบความผิดปรกติที่ต่อมหมวกไตด้วยเสมอ

ปัจจุบันไม่มีวัคซีนหรือตัวยาที่จะป้องกันโรคนี้โดยตรง โดยทั่วไปจะใช้ยาฆ่าเชื้อราร่วมกับการรักษาตามอาการ ซึ่งอาจต้องรับประทานยานาน 3 เดือน ถึง 1 ปีขึ้นกับอาการ ตำแหน่ง และความรุนแรงของโรค การติดต่อจากคนสู่คนหรือจากสัตว์สู่คนเป็นไปได้ยาก วิธีป้องกันตนเองที่มีประสิทธิภาพ คือ รักษาสุขภาพให้แข็งแรง หลีกเลี่ยงการเข้าถ้ำที่มีค้างคาว ในสิ่งแวดล้อมที่อับชื้นมีมูลนกหรือมูลสัตว์ โพรงต้นไม้ที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก (ควรระวังการใกล้ชิดกับไก่ นก และค้างคาว) หากจำเป็นต้องเข้าไปอยู่ในสถานที่เหล่านี้ ต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย หลังจากนั้นต้องล้างมือให้สะอาด เปลี่ยนเสื้อผ้า

ทั้งนี้ หากมีอาการป่วยภายหลังไปท่องเที่ยวในสถานที่ที่เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์พาหะ หรือการทำความสะอาดเล้า/ กรง/ คอกสัตว์ รวมถึงการพรวนดิน และจัดเก็บบ้านเก่า ให้รีบไปพบแพทย์ทันที

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *