เช็คสัญญาณ “โรคฮาชิโมโต” รู้เร็ว รีบรักษา มีโอกาสหาย

0

“ฮาชิโมโต” เป็นชื่อโรคโรคหนึ่ง ที่เชื่อว่าเกินกว่าครึ่งของคนที่ได้ยินได้เห็นคำนี้ คงไม่รู้จัก โดยโรคฮาชิโมโตเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับไทรอยด์ ที่น่ากลัวคือโรคนี้หากไม่ได้รับการรักษา และปล่อยให้มีการอักเสบต่อเนื่อง อาจทำให้ต่อมไทรอยด์ถูกทำลายลงไปเรื่อย ๆ จนเกิดอันตรายถึงชีวิตได้

ไทรอยด์ เป็นต่อมที่อยู่บริเวณคอ เป็นส่วนหนึ่งของระบบต่อมไร้ท่อ ลักษณะเป็นรูปผีเสื้อ 2 ข้าง หน้าที่คือสร้าง ไทรอยด์ฮอร์โมน ซึ่งเป็นฮอร์โมนเกี่ยวกับการเผาผลาญการกระตุ้นระบบประสาทของร่างกาย กระตุ้นหัวใจ กระตุ้นลำไส้ ทำให้เราสดชื่นมีพลังในการทำงาน โดย โรคฮาชิโมโต (Hashimoto’s Thyroiditis) หรือภาวะต่อมไทรอยด์อักเสบเรื้อรังจากความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกัน เป็นสาเหตุของภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำที่พบได้บ่อย เกิดจากการที่ภูมิคุ้มกันในร่างกายไปทำให้ต่อมไทรอยด์เกิดการอักเสบเรื้อรังและทำงานลดลงอย่างต่อเนื่อง

โรคฮาชิโมโตมีจากหลายปัจจัย ได้แก่ กรรมพันธุ์ คนที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นไทรอยด์ ไม่ว่าจะเป็นไทรอยด์เป็นพิษ ไทรอยด์อักเสบเรื้อรัง โรคเหล่านี้เป็นโรคเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันของไทรอยด์ที่ผิดปกติ บางครั้งอาจแสดงในกลุ่มของอาการที่ไทรอยด์มากเกินไปหรือไทรอยด์น้อยเกินไป ขึ้นอยู่กับภูมิตัวนี้ไปยับยั้งหรือทำให้มีการสร้างฮอร์โมนมากขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าในครอบครัวมีคนเป็นโรคไทรอยด์จึงควรไปตรวจสุขภาพ อาจจะพบมากขึ้นในบางเชื้อชาติ

นอกจากกรรมพันธุ์แล้ว อาจมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เป็นสาเหตุให้เกิดโรคฮาชิโมโต ได้แก่ การรับประทานสารไอโอดีนมากเกินไป, ความเครียด, โรคติดเชื้อ, การสัมผัสรังสี, การได้รับยาบางชนิดที่มี ปริมาณ LD (Lethal Dose) สูง หรืออาจจะสัมพันธ์กับโรคภูมิคุ้มกันอื่น ๆ เพศหญิงจะเป็นโรคไทรอยด์มากกว่าเพศชาย พบอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นตามอายุ แต่สามารถพบในเด็กวัยรุ่นและวัยกลางคนได้เช่นกัน

อาการของโรคฮาชิโมโต ในระยะแรกผู้ป่วยอาจไม่มีอาการใด ๆ แต่เมื่อต่อมไทรอยด์มีขนาดโตขึ้น เกิดเป็นคอพอกที่ไม่มีอาการเจ็บปวด อาจจะมีอาการอื่นร่วมด้วย ได้แก่ น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น หน้าบวม รู้สึกหนาวง่าย ผิวแห้ง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดเมื่อยตามตัว ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ผมร่วง อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ท้องผูกคอโตเนื่องจากต่อมไทรอยด์โต ในรายที่มีอาการรุนแรง อาจมีภาวะโคม่าได้ เช่น หมดสติ หัวใจเต้นช้า หายใจช้าลง ส่งผลกระทบต่อระบบหัวใจ หัวใจวายได้

วิธีการดูแลสุขภาพให้ห่างไกลโรคฮาชิโมโต

1. รับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ครบ 5 หมู่ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

2. หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่

3. ใช้ชีวิตให้สมดุล แบ่งเวลาทำงานอย่างเหมาะสม พักผ่อนให้เพียงพอ ลดความเครียด

4. รับประทานยาและปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์ที่ตรวจรักษาอย่างเคร่งครัด หากได้รับการรักษาไม่ต่อเนื่อง หยุดกินยาเอง อาจทำให้เกิดภาวะโรคที่รุนแรงได้ 

ทั้งนี้ ถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น คอโตขึ้น บวม น้ำหนักขึ้นมาก ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษา โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติโรคไทรอยด์ในครอบครัว

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *