ภาวะหัวใจล้มเหลว : รู้จักและป้องกันไม่ให้อาการกำเริบ

0

“หัวใจ” เป็นอวัยวะในทรวงอก อยู่ระหว่างปอดทั้ง 2 ข้าง ทำหน้าที่คอยสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย นับเป็นหนึ่งในอวัยวะสำคัญของร่างกายที่ควรดูแลให้แข็งแรงอยู่เสมอ เนื่องจากหากการทำงานของหัวใจผิดปกติ จะส่งผลให้เกิดปัญหาต่ออวัยวะทั้งหมดของร่างกายได้

“ภาวะหัวใจล้มเหลว” (Heart Failure) คือ ภาวะที่หัวใจอ่อนแรงไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้อย่างปกติ เนื่องจากหัวใจมีการบีบตัวหรือคลายตัวที่ผิดปกติ บางครั้งหัวใจมีขนาดโตหรือหนากว่าปกติ สาเหตุเกิดได้จากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคความดันโลหิตสูง โรคลิ้นหัวใจรั่ว หรือลิ้นหัวใจตีบ โรคกล้ามเนื้อหัวใจพิการหรือบกพร่อง โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ การติดเชื้อของกล้ามเนื้อหัวใจ หรือลิ้นหัวใจ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด

สำหรับสาเหตุอื่น ๆ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงจากสารพิษต่างๆ เช่น การดื่มสุรา หรือยาเสพติด พันธุกรรม โรคเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน โรคต่อมไร้ท่อ เป็นต้น นอกจากนี้ สาเหตุสำคัญที่ส่งผลให้ผู้ป่วยมีภาวะหัวใจล้มเหลวกำเริบมากยิ่งขึ้น เกิดได้จากการรับประทานอาหารรสเค็ม หรืออาหารที่มีโซเดียมสูง การดื่มน้ำมากเกินไป (มากกว่าที่ปัสสาวะออกจากร่างกาย) การรับประทานยาที่ไม่สม่ำเสมอ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด การรับประทานยากลุ่ม NSAIDS และภาวะอื่น ๆ เช่น ไทรอยด์เป็นพิษ การติดเชื้อ ในร่างกาย ภาวะซีดหรือเลือดจาง

ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวมักจะมีอาการเหนื่อยง่าย หรือหอบ นอนราบไม่ได้ ต้องหนุนหมอนเพิ่มหรือนั่งหลับ สะดุ้งตื่นมาตอนกลางคืน เพราะอึดอัดหายใจลำบาก บวมที่ข้อเท้าและหน้าแข้ง น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมากกว่า 2 กิโลกรัม ใน 2 วัน อ่อนเพลีย ไม่มีแรง คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร และท้องอืด

วิธีดูแลตัวเองเพื่อป้องกันไม่ให้ภาวะหัวใจล้มเหลวกำเริบมากขึ้น มีดังนี้

1. รับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ ตามคำแนะนำของแพทย์ มาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง ตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี รวมทั้งควรได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ประจำปี (ในกรณีไม่มีข้อห้าม)

2. ชั่งน้ำหนักทุกวัน ก่อนกินมื้อเช้าทุกวัน หรือหลังเข้าห้องน้ำขับถ่ายแล้วในช่วงเช้า และจดบันทึกน้ำหนักเพื่อช่วยประเมินตนเอง เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัวมากกว่า 1 กิโลกรัมจากเดิมภายใน 1-2 วัน แสดงถึงภาวะคั่งน้ำและเกลือแล้ว

3. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็ม รวมถึงจำกัดปริมาณโซเดียมที่รับประทานต่อวัน (ไม่เกิน 2 กรัมต่อวัน)

4. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างพอดี อาจเริ่มจากการออกกำลังกายเบา ๆ เช่น การเดินบนทางราบประมาณวันละ 5 นาที ทั้งนี้ หากมีอาการหอบเหนื่อย อ่อนเพลีย รู้สึกไม่สบาย ควรหยุดพักทันที

5. งดสูบบุหรี่และแอลกอฮอล์ทุกประเภท เพราะสารพิษในบุหรี่จะส่งผลให้เส้นเลือดหัวใจตีบ เลือดไหลเวียนไม่สะดวก ส่วนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้การบีบตัวของหัวใจลดลง และทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม

6. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ทำใจให้สบาย รวมถึงลดความเครียดด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น ออกกำลังกาย ทำสมาธิ

ที่สำคัญ ผู้ป่วยควรสังเกตอาการตนเอง หากพบว่ามีอาการผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีป้องกันความรุนแรงของโรค และนำไปสู่แนวทางการรักษาที่ถูกวิธี เพื่อรักษาชีวิตผู้ป่วยได้อย่างปลอดภัย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *