รู้ว่าป่วย “ลมชัก” ไม่ควรขับรถ ถ้าไม่อยากพลาดถึงชีวิต!

0

สร้างความตระหนกตกใจให้เหล่าผู้ใช้รถใช้ถนนได้ไม่น้อย กรณีชายวัย 44 ปี ขับรถกระบะชนจักรยานยนต์กว่า 10 คัน บนถนนพัทยาใต้ จนมีผู้เสียชีวิต 2 ราย ผู้บาดเจ็บ 15 ราย โดยอ้างว่าเป็นโรคลมชัก ส่วนจะป่วยจริงหรือแค่อ้างให้เป็นหน้าที่ของตำรวจ เพราะสิ่งที่เราอยากโฟกัสคืออันตรายของ “โรคลมชัก” ค่ะ

“โรคลมชัก”

หรือ “โรคลมชักบ้าหมู” เป็นโรคทางระบบประสาทที่พบบ่อยโรคหนึ่ง พบได้ในทุกเพศและทุกวัย โดยโรคลมชักเป็นหนึ่งในความผิดปกติของเซลล์ในระบบประสาท เกิดจากการเปลี่ยนแปลงอย่างเฉียบพลันของไฟฟ้าสมองที่ออกมาจากกลุ่มเซลล์ที่ผิดปกติพร้อมๆ กัน และทำให้มีอาการชัก

%e0%b8%a5%e0%b8%a1%e0%b8%8a%e0%b8%b1%e0%b8%81-%e0%b9%84%e0%b8%a1%e0%b9%88%e0%b8%84%e0%b8%a7%e0%b8%a3%e0%b8%82%e0%b8%b1%e0%b8%9a%e0%b8%a3%e0%b8%96

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า

โรคลมชักจะมีอาการหลากหลาย ทำให้สังเกตยาก ผู้ป่วยส่วนหนึ่งอาจไม่รู้ตัวว่าป่วยเป็นโรคลมชัก จึงไม่ได้รับการรักษา เช่น ภาวะเหม่อลอย วูบ เบลอ จำอะไรไม่ได้ชั่วขณะ ฯลฯ ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคลมชักเสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากกว่าคนทั่วไป 2-6 เท่า ซึ่งส่วนหนึ่งเสียชีวิตจากอุบัติเหตุขณะชัก แต่หากได้รับการรักษาที่เหมาะสม ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ

สำหรับการรักษามีทั้งการรับประทานยา และผ่าตัด ปัจจุบันพบว่าผู้ป่วยโรคลมชักดื้อต่อยาที่รักษามากขึ้น ทั้งนี้ อาการชักที่อยู่ในภาวะวูบ ภาวะเหม่อลอย เป็นเพียงไม่กี่วินาทีแล้วหาย ทำให้ไม่ทันสังเกต ถ้ามีอาการเหล่านี้ซ้ำๆ แม้จะไม่มีอาการเกร็ง ชัก กระตุก ควรมาพบแพทย์เพื่อซักประวัติ รวมทั้งการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) สามารถบอกได้ว่าเป็นภาวะของโรคลมชักหรือไม่

นพ.อุดม ภู่วโรดม  ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า

นอกจากภาวะชักเกร็งกระตุกแล้ว ยังต้องระวังกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการชักเหม่อลอย เนื่องจากเมื่อมีอาการจะไม่รู้สึกตัวและอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ เช่น ว่ายน้ำแล้วเกิดจมน้ำ ชักขณะขับรถ เป็นเหตุให้เกิดอันตรายต่อตนเอง ผู้ร่วมเส้นทางหรือทรัพย์สินได้ ส่วนผู้ป่วยที่ต้องทำงานกับเครื่องจักรจะต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ ผู้ใกล้ชิด คนในครอบครัวและเพื่อนร่วมงาน ควรจะทำความเข้าใจกับโรคนี้เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง ผู้ป่วยโรคลมชักที่มีอาการกำเริบจะมีภาวะชักเกร็ง กระตุก ไม่เกิน 2 นาที แต่หากชักนานถึง 5 นาที ควรรีบนำส่งสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด หรือโทรแจ้งหมายเลข 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือ เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะชักต่อเนื่องไม่หยุด และดื้อต่อการรักษาด้วยยาเพิ่มมากขึ้นด้วย

ฉะนั้น หากป่วยเป็นโรคลมชัก ไม่ควรขับรถ เพราะหากอาการกำเริบขึ้นมา ไม่เพียงตัวเองเท่านั้นที่จะบาดเจ็บ ยังอาจเกิดอุบัติเหตุต่อชีวิตผู้อื่นได้อีกด้วยค่ะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *