รู้จัก “โรคลมชักในผู้ป่วยเด็ก”

0

“โรคลมชัก” เป็นโรคระบบประสาทเรื้อรังที่พบบ่อยที่สุดในเด็กทั่วโลก คือประมาณ 41-187 ต่อแสนประชากร พบอุบัติการณ์สูงในขวบปีแรกความชุกของโรคลมชักรวมทุกอายุประมาณ 4-10 ต่อ 1000 ประชากร สำหรับประเทศไทยประมาณการผู้ป่วยโรคลมชัก 500,000 คน เป็นผู้ป่วยเด็กประมาณ 1 ใน 3

โรคลมชักเกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าสมองมีการปล่อยกระแสไฟฟ้าที่มากกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการแสดงเป็นอาการชักหลายรูปแบบ สาเหตุของโรคลมชักในเด็ก เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น พันธุกรรม สมองได้รับบาดเจ็บจากการขาดออกซิเจน เลือดออกในสมอง การติดเชื้อที่ระบบประสาท ฯลฯ

เด็กที่มีอาการชักบ่อยอาจมีภาวะทางสติปัญญา พัฒนาการ หรือพฤติกรรมผิดปกติร่วมด้วย การรักษาโรคลมชักที่ถูกต้องเหมาะสมนอกจากทำให้เด็กหยุดชักแล้ว ยังทำให้สติปัญญา พัฒนาการ หรือ พฤติกรรมกลับมาดีขึ้นได้ด้วย ส่วนใหญ่สามารถเรียนหนังสือ และโตขึ้นใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ

epilepsy-in-kids

สำหรับอาการชักในเด็กนั้น มีรูปแบบที่เฉพาะและแตกต่างจากผู้ใหญ่ เช่น อาการชักผวาเป็นชุดในทารก อาการชักผงกหัวตัวอ่อน อาการชักเหม่อสั้นๆ ในเด็ก เป็นต้น ซึ่งอาการดังกล่าวเป็นอาการชักที่คนส่วนใหญ่ ไม่ทราบว่าเป็นโรคลมชักจึงไม่ได้พาไปพบแพทย์ ทำให้การรักษาล่าช้า ทำให้เด็กที่มีอาการชักดังกล่าวอาจมีพัฒนาการช้าหรือ พัฒนาการถดถอยได้ การรักษาเร็วจะช่วยให้มีโอกาสหายและพัฒนาการดีขึ้น

ดังนั้น หากพ่อแม่ผู้ปกครองสังเกตเห็นบุตรหลานมีอาการชัก หรือ สงสัยพฤติกรรมที่ดูแปลกไปกว่าปกติที่เกิดซ้ำๆ ควรสอบถามรายละเอียดอาการจากผู้เห็นเหตุการณ์ หรือ ถ่ายคลิปวีดีโอขณะเด็กเกิดอาการ และพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป

สำหรับการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เมื่อเด็กเกิดอาการชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัว มีดังนี้

  1. พ่อแม่ผู้ปกครองต้องตั้งสติให้ดี
  2. จัดท่าเด็กให้นอนตะแคงเพื่อป้องกันการสำลัก และถ้าเห็นเศษอาหารให้กวาดออกมาจากปากได้
  3. ห้ามเอาอุปกรณ์ใดๆ รวมทั้งมือเข้าไปง้างปากผู้ป่วย เพราะการงัดหรือง้างปากเด็กอาจทำให้ฟันหักและตกลงไปอุดหลอดลม หายใจไม่ได้และเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจได้ ในขณะที่เด็กกัดลิ้นนั้นไม่มีอันตรายถึงชีวิตและรักษาได้

โดยทั่วไป อาการชักมักจะหยุดได้ภายใน 2-3 นาที ยกเว้นบางรายที่รุนแรงมากเกิน 5 นาที และหลังจากหยุดชักแล้วให้รีบพาผู้ป่วยไปส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *