คุณแม่ท้องต้องรับมืออย่างไรกับสถานการณ์ฝีดาษลิง

0

เมื่อไม่นานนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้การระบาดของไวรัสฝีดาษวานร (Monkeypox) เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ ดังนั้น การเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับโรคดังกล่าวจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่มีอีกหนึ่งชีวิตอยู่ในท้องอย่างหญิงตั้งครรภ์

โรคฝีดาษลิง หรือโรคฝีดาษวานร (Monkeypox) คือ โรคสัตว์สู่คน (Zoonosis Diseases) ที่เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Orthopoxvirus ซึ่งเป็นตระกูลเดียวกันกับเชื้อไวรัสโรคฝีดาษ เป็นโรคที่ใกล้เคียงกับอีสุกอีใส และไข้ทรพิษ แต่มีความรุนแรงน้อยกว่า โดยคนสามารถติดโรคฝีดาษลิงจากการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัดข่วน การประกอบอาหารจากเนื้อสัตว์ป่า หรือกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ หรืออาจติดทางอ้อมจากการสัมผัสที่นอนของสัตว์ป่วย

การแพร่เชื้อจากคนสู่คนเกิดขึ้นได้จากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยผ่านทางสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจ ผิวหนังที่เป็นตุ่ม หรืออุปกรณ์ที่มีการปนเปื้อนเชื้อ และสามารถแพร่เชื้อจากหญิงตั้งครรภ์สู่ทารกในครรภ์ได้ นอกจากนี้ ยังมีการตั้งสมมุติฐานว่าโรคฝีดาษลิงอาจสามารถติดต่อได้ทางเพศสัมพันธ์แต่ยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนเพียงพอ สำหรับกลุ่มที่ต้องระวังโรคฝีดาษลิงเป็นพิเศษ คือ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ สตรีมีครรภ์ และเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี

สำหรับอาการของโรคฝีดาษลิงแบ่งเป็น 4 ระยะ ได้แก่

1. ระยะฟักตัว จะไม่แสดงอาการช่วง 5 – 21 วันหลังจากได้รับเชื้อ

2. ระยะไข้ 1 – 4 วัน มีอาการปวดหัว เจ็บคอ หนาวสั่น อ่อนเพลียและต่อมน้ำเหลืองโตร่วมด้วย

3. ระยะผื่น 1 – 2 สัปดาห์ จะเริ่มจากผื่นแบน ผื่นนูน ผื่นมีน้ำใสใต้ผื่น ผื่นมีน้ำขุ่นใต้ผื่น จนกระทั่งเป็นผื่นแผลแห้งเป็นขุย

4. ระยะฟื้นตัว ใช้เวลาหลายวันจนถึงหลายสัปดาห์

การป้องกันโรคฝีดาษลิง มีดังนี้

1. หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์

2. หลีกเลี่ยงมีเพศสัมพันธ์ที่มีความเสี่ยงหรือคู่นอนที่ไม่รู้จัก

3. หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อหรือสัตว์ป่า รวมถึงเว้นระยะห่าง ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วยที่มีตุ่มหนองหรือผู้ป่วยต้องสงสัย

4. หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ

5. ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยงหรือนำเข้าสัตว์จากต่างประเทศโดยไม่มีการคัดกรองโรค

6. กรณีมีการเดินทางกลับจากประเทศที่เป็นเขตติดโรค ต้องทำการคัดกรองและเฝ้าระวังอาการจนครบ 21 วัน หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบไปพบแพทย์ทันที และทำการแยกกักเพื่อมิให้ผู้ป่วยมีการแพร่กระจายเชื้อ

7. หากสงสัยว่าตนเองมีอาการป่วยเข้าได้กับโรคฝีดาษลิง สามารถติดต่อสถานพยาบาลเพื่อรับการตรวจหาเชื้อได้ทันที

โรคฝีดาษลิงอาการไม่รุนแรงและมีโอกาสการแพร่เชื้อต่ำกว่าโรคโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ไม่ควรประมาท หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อฝีดาษลิง รวมถึงหมั่นดูแลตัวเองให้สุขภาพแข็งแรงอยู่เสมอ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *