ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงทางจิตสังคมในแต่ละไตรมาสของแม่ท้อง

0

การตั้งครรภ์ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายหลายด้านของคุณแม่ท้อง หนึ่งในนั้น คือ การเปลี่ยนแปลงทางจิตสังคม โดยจิตสังคม คือ ภาวะทางด้านจิตใจอารมณ์ของบุคคลที่แสดงออกให้บุคคลอื่นเห็น และนี่คือการเปลี่ยนแปลงทางจิตสังคมในแต่ละไตรมาสของหญิงตั้งครรภ์ ที่ว่าที่คุณแม่และคุณพ่อมือใหม่ควรรู้!

ไตรมาสที่ 1

1. มีความรู้สึกไม่แน่ใจ หญิงตั้งครรภ์จะรู้สึกไม่มั่นใจว่าตนเองตั้งครรภ์ จึงอาจพยายามทดสอบหรือเสาะหาการตรวจสอบเพื่อให้มั่นใจว่าตนเองตั้งครรภ์ จะสังเกตเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของตนเองที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์

2. มีความรู้สึกก้ำกึ่ง เกือบครึ่งหนึ่งของหญิงตั้งครรภ์ไม่ได้วางแผนตั้งครรภ์ เมื่อแน่ใจว่าตั้งครรภ์แล้วจะรู้สึกขัดแย้ง บางคนอาจคิดว่ายังไม่ถึงเวลาที่จะตั้งครรภ์ ไม่น่าเกิดในขณะนี้ ถึงแม้ว่าเป็นการตั้งครรภ์ที่ต้องการก็ตาม คุณแม่ท้องส่วนใหญ่ปรารถนาจะตั้งครรภ์เมื่อปัจจัยต่าง ๆ พร้อม การตั้งครรภ์ทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปอย่างถาวร คุณแม่ท้องจะตรวจสอบสังเกตการเปลี่ยนแปลงและวิธีรับมือกับการตั้งครรภ์ อาจกังวลเกี่ยวกับความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นและไม่มั่นใจในความสามารถของตนและสามีในการเป็นพ่อแม่ที่ดี ส่วนหญิงครรภ์หลังจะคิดเกี่ยวกับการจัดการด้านสัมพันธภาพกับบุตรที่มีอยู่และสามี

3. สนใจแต่ตนเอง ในไตรมาสที่ 1 หญิงตั้งครรภ์จะสนใจแต่ตนเอง ไม่สนใจทารกในครรภ์ และจากความไม่สุขสบายทางกายและการเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนทำให้มีอารมณ์ไม่คงที่ อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย ไม่มีสมาธิ

ไตรมาสที่ 2

1. สนใจทารกในครรภ์มากขึ้น ความที่คุณแม่ท้องมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย เช่น มดลูกโตขึ้น น้ำหนักเพิ่ม เต้านมเปลี่ยนแปลง และการดิ้นของทารก ทำให้รับรู้ว่าทารกเป็นบุคคลหนึ่งแต่อยู่ในร่างกายของตนเอง จึงสนใจทารกในครรภ์มากขึ้น จะรู้สึกดีมีความสุขเนื่องจากความไม่สุขสบายทางกายหายไป จะตระหนักถึงความสามารถในการปกป้องดูแลทารกในครรภ์ เลือกอาหารและเสื้อผ้าที่เหมาะสมมากขึ้น สนใจสิ่งแวดล้อมลดลง คิดจินตนาการเกี่ยวกับทารก ในมารดาครรภ์แรกจะดูภาพหรือคิดถึงตนเองสมัยยังเด็ก ส่วนมารดาครรภ์หลังจะคิดวิธีที่จะให้บุตรที่มีอยู่ยอมรับทารกในครรภ์

2. รู้สึกบวกหรือลบต่อภาพลักษณ์ของตนเอง ความที่ร่างกายหญิงตั้งครรภ์มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากทั้งขนาดและรูปร่างทำให้มารดาบางรายรู้สึกภาคภูมิใจ แต่บางรายอาจกังวลต่อการเปลี่ยนแปลงของรูปร่างและการทำหน้าที่ของร่างกาย รู้สึกว่าร่างกายน่าเกลียด รู้สึกว่าอ้วน จึงทำให้มีความรู้สึกต่อตนเองในทางลบ

ไตรมาสที่ 3

1. มีความอ่อนแอ กังวลว่าทารกจะได้รับอันตราย อาจจินตนาการและฝันร้ายเกี่ยวกับทารก จึงระวังตัวมากขึ้น ความรู้สึกอ่อนแอของหญิงตั้งครรภ์จะลดลงเมื่อครรภ์ครบกำหนด จะรับรู้ว่าทารกเป็นบุคคลที่แยกจากตัวเอง จะทบทวนเกี่ยวกับการปฎิบัติตัวและการคลอด จะคิดเกี่ยวกับการจัดการตนเองในระยะคลอดและอาจกังวลว่าจะไม่พร้อมเมื่อถึงระยะคลอด

2. ต้องการพึ่งพา ในปลายไตรมาสที่ 3 คุณแม่ท้องจะมีความต้องการให้สามีมีเวลาให้ตนเองทุกครั้งที่ต้องการ อาจโทรศัพท์หาบ่อยขึ้น ต้องการพึ่งพาสามีมากขึ้น ต้องการให้สามีเป็นผู้ตัดสินใจ ต้องการความรักความเอาใจใส่จากสามี เพื่อให้ตนเองมั่นใจและจัดการกับสิ่งต่าง ๆ ได้ บางรายต้องการให้สามีเข้าใจตนและจะโกรธถ้าสามีไม่เป็นไปตามที่หวังไว้

3. ความกลัว อาจกลัวและคาดว่าวันกำหนดคลอดไม่น่าจะมาถึงเร็ว (เลื่อนวันคลอดออกไป) กลัวความปวดในระยะคลอด ครรภ์แรกกลัวการคลอดมากกว่าครรภ์หลัง จะพูดระบายความกลัวกับคนใกล้ตัวและหาข้อมูลต่าง ๆ นอกจากนี้จะมีพฤติกรรมสร้างรัง โดยการเตรียมสถานที่ที่นอนของทารกและเสื้อผ้า เตรียมการเกี่ยวกับหน้าที่ของคนในครอบครัว

ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางจิตสังคมในแต่ละไตรมาสของหญิงตั้งครรภ์เป็นเรื่องสำคัญสำหรับว่าที่คุณแม่และคุณพ่อ เพื่อให้เตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอย่างมีความสุข

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *