หัดเยอรมันในหญิงตั้งครรภ์ อันตรายทั้งกับแม่และเบบี๋

0

เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว หลายพื้นที่ในประเทศไทยอุณหภูมิเริ่มต่ำลง หากร่างกายปรับสภาพไม่ทันอาจส่งผลให้เกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ ประกอบกับเชื้อก่อโรคหลายชนิดจะมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานขึ้น หนึ่งในโรคที่มักเกิดขึ้นบ่อยในฤดูหนาวที่คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องระวังเป็นพิเศษ คือ โรคหัดเยอรมัน

โรคหัดเยอรมันและโรคหัด เป็นโรคที่เกิดขึ้นบ่อยในช่วงอากาศหนาวเย็น ซึ่งหลายคนมักเข้าใจผิดคิดว่า เป็นโรคเดียวกัน ข้อเท็จจริง คือ หัดเยอรมันและหัดไม่ใช่โรคเดียวกัน แต่ว่ามีลักษณะอาการผื่นแดงที่มีความใกล้เคียงกัน ส่วนสาเหตุการเกิดโรคหัดเยอรมันนั้นเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดอื่น ๆ ที่แตกต่างจากโรคหัด และโรคหัดเยอรมันมีความรุนแรงน้อยกว่าโรคหัด

โรคหัดเยอรมัน เกิดจากเชื้อไวรัสรูเบลล่า (Rubella) ติดต่อกันได้โดยการไอ จาม หรือสัมผัสน้ำมูกน้ำลายที่มีเชื้อหัดเยอรมันอยู่ เชื้อนี้มีชีวิตอยู่ในร่างกายคนได้ถึง 1 ปี เมื่อติดเชื้อแล้วจะยังไม่เกิดอาการทันที ใช้เวลาประมาณ 14 -21 วันจึงเริ่มเกิดอาการเริ่มจากมีไข้ต่ำ ๆ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัวและตามข้อเล็กน้อย หลังจากเป็นไข้ได้ 1-2 วัน จะเกิดผื่นแดงบริเวณใบหน้าแล้วจึงกระจายไปตามลำคอ ตัว แขนและขา บริเวณหลังหูข้างท้ายทอยจะคลำพบต่อมน้ำเหลืองโตเล็กน้อย กดเจ็บ อาการดังกล่าวจะมีอยู่ 2-3 วัน ในผู้ติดเชื้อบางรายจะเป็นโดยไม่มีผื่นขึ้นเลย

หากหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อโรคหัดเยอรมันในช่วงอายุครรภ์ 3 – 4 เดือนแรก จะเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อทารกในครรภ์ เช่น ตาเป็นต้อกระจกหรือต้อหิน หูหนวก หัวใจพิการแต่กำเนิด เด็กตัวเล็กกว่าปกติ เกล็ดเลือดต่ำกว่าปกติทำให้เกิดจ้ำเลือดตามผิวหนัง ตับ ม้ามโต และมีความผิดปกติทางสมอง อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงของโรคหัดเยอรมันนี้จะขึ้นอยู่ที่ความรุนแรงของตัวเชื้อหัดเยอรมัน และรวมถึงระยะเวลาในการติดเชื้อ และภาวะภูมิคุ้มกันของคุณแม่และตัวทารกเองด้วย โดยผู้ที่เคยเป็นโรคหัดเยอรมันแล้วจะมีภูมิคุ้มกันโรคนี้ไปตลอดชีวิต

กรณีที่เกิดการติดเชื้อในหญิงตั้งครรภ์โดยเฉพาะอายุครรภ์ 3 เดือนแรก ควรไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจเลือดดูว่าเคยมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อหัดเยอรมันหรือไม่ กรณีตรวจไม่พบภูมิคุ้มกัน ให้ตรวจซ้ำอีกครั้ง ภายใน 2 – 3 สัปดาห์ต่อมา ถ้าผลตรวจยังคงเป็นลบ ควรตรวจซ้ำอีกครั้งเมื่อ 6 สัปดาห์หลังสัมผัสโรค การตรวจเลือดทุกครั้งควรดูผลเลือดควบคู่กับผลเลือดที่เจาะครั้งแรกด้วยเสมอ กรณีที่ผลเลือดทุกครั้งให้ผลลบแสดงว่าไม่มีการติดเชื้อ แต่ถ้าตรวจครั้งแรกให้ผลลบและครั้งต่อไปให้ผลบวกแสดงว่ามีการติดเชื้อ ซึ่งแพทย์จะแนะนำเรื่องความเสี่ยงที่จะเกิดกับทารกในครรภ์และอาจให้ยุติการตั้งครรภ์

โรคหัดเยอรมันสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน ซึ่งอยู่ในวัคซีนรวม 3 โรค วัคซีนเอ็มเอ็มอาร์ (MMR) คือสามารถป้องกันโรคคางทูม โรคหัด และโรคหัดเยอรมัน ได้ภายในเข็มเดียวกัน วัคซีนที่ใช้สร้างจากการนำเชื้อไวรัสที่ยังมีชีวิตอยู่แต่ทำให้อ่อนฤทธิ์ลง เมื่อฉีดแล้วจะทำให้ร่างกายคนสามารถสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นช้า ๆ และขึ้นสูงสุดในสัปดาห์ที่ 6 ถึง 8 หลังฉีดวัคซีน สำหรับหญิงวัยเจริญพันธุ์แนะนำให้ฉีดวัคซีนนี้ล่วงหน้าก่อนที่จะตั้งครรภ์อย่างน้อย 1 เดือน ส่วนหญิงที่กำลังตั้งครรภ์ ห้ามฉีดวัคซีนชนิดนี้เด็ดขาด เนื่องจากวัคซีนเป็นอันตรายกับเด็กในท้อง

ฉะนั้น หญิงตั้งครรภ์ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนหรือไม่เคยเป็นโรคนี้มาก่อน ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไปพื้นที่เสี่ยง รวมถึงพื้นที่ที่มีคนหนาแน่น และอากาศไม่ถ่ายเท ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือให้สะอาดบ่อย ๆ และไม่นำมือไปสัมผัสตา จมูก ใบหน้า

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *