ความเสี่ยงถ้าไม่ตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์? ใครบ้างที่ควรตรวจ?

0

ต่อเนื่องจากบทความก่อนหน้านี้ กับเรื่องราวความสำคัญของการตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ โรคทางพันธุกรรมที่พบบ่อย  รวมถึงมีการตรวจอะไรบ้าง คราวนี้เรามาเจาะลึกถึงประเด็นที่ว่า ใครบ้างที่ควรตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ รวมถึงถ้าไม่ตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์มีความเสี่ยงอะไรบ้าง

การตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์เป็นเรื่องสำคัญ เพราะสุขภาพของพ่อแม่สามารถส่งถึงลูกน้อยได้โดยตรง พ่อแม่ที่มีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคแฝงหรือเป็นพาหะโรคทางพันธุกรรม ย่อมส่งผลดีต่อความสมบูรณ์และแข็งแรงของทารกในครรภ์ด้วย การตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์สามารถป้องกันโรคทางพันธุกรรมทั้งจากพ่อและแม่ รวมไปถึงภาวะมีบุตรยากที่อาจทำให้เห็นสัญญาณการมีบุตรยาก นำไปสู่การการแนะนำทางเลือกในการมีลูกด้วยเทคโนโลยีต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม

คู่มือการเตรียมความพร้อมก่อนใช้ชีวิตคู่และก่อนตั้งครรภ์เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดย สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กล่าวถึง การตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้

ใครที่ควรตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์

1. ทุกคู่ที่วางแผนจะมีบุตร โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 35 ปี และต้องการมีบุตร

2. ผู้ที่เคยได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัด และผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ เช่น โรคลมชัก โรคเบาหวาน เพราะอาจส่งผลกระทบต่อทารกได้

3. ผู้ที่เคยมีประวัติการแท้ง หรือทารกเสียชีวิตในครรภ์โดยไม่ทราบสาเหตุมากกว่า 3 ครั้ง

4. ผู้ที่เคยได้รับสารเคมีที่อาจส่งผลให้เกิดความพิการแต่กำเนิดของทารก

ถ้าไม่ตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์มีความเสี่ยงอะไรบ้าง

1. ถ้าพ่อและแม่มีเชื้อซิฟิลิสอยู่ในกระแสเลือดจะส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ โดยทำให้ทารกแท้งหรือตายได้ หรืออาจทำให้พิการแต่กำเนิด เช่น หูหนวก ตาบอด หัวใจรั่ว หรือสมองพิการ ซึ่งเป็นโรคที่อันตรายต่อทารกในครรภ์อย่างมาก

2. ถ้าแม่ที่ตั้งครรภ์และมีภาวะตับอักเสบบีเรื้อรังมีโอกาสถ่ายทอดไปยังลูกที่เกิดออกมาได้

3. ถ้าแม่เป็นโรคหัดเยอรมัน ทารกในครรภ์ที่ติดเชื้ออาจเกิดความผิดปกติ ขึ้นอยู่กับอายุครรภ์ที่ติดเชื้อ หากอยู่ในระยะ 12 สัปดาห์แรก เด็กอาจพิการทางสายตาเป็นต้อกระจกหรือ ต้อหิน หูหนวกหัวใจพิการแต่กำเนิด และความผิดปกติทางสมอง

4. ถ้าพ่อแม่เป็นโรคเลือดจางธาลัสซีเมีย จะสามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ไปยังลูกได้ 2 แบบ

1) เป็นพาหะ ไม่แสดงอาการของโรค สุขภาพดีเหมือนคนทั่วไป แต่มีความผิดปกติของเม็ดเลือดสามารถถ่ายทอดไปยังบุตรหลานได้

2) เป็นโรค แสดงอาการซีด ตาขาวมีสีเหลือง ตับโต ม้ามโต ใบหน้าจะเปลี่ยน จมูกแบน กะโหลกศีรษะหนา โหนกแก้มสูง คางและกระดูกขากรรไกรกว้างใหญ่ ฟันบนยื่น กระดูกเปราะหักง่าย ผิวหนังดำคล้ำ ร่างกายเติบโตช้ากว่าคนปกติ สามารถถ่ายทอดไปยังบุตรหลานได้

5. ถ้าพ่อหรือแม่ติดเชื้อเอดส์ จะนำไปสู่การตัดสินใจในการตั้งครรภ์ว่าจะมีบุตรหรือไม่มี หากตัดสินใจมีบุตร จะได้เข้าสู่กระบวนการป้องกันการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก

ย้ำกันอีกครั้ง เพื่อให้การตั้งครรภ์เป็นไปอย่างราบรื่น คุณพ่อคุณแม่ควรเข้ารับการตรวจด้วยกันทั้งคู่ เพื่อการตั้งครรภ์อย่างมีคุณภาพและนำไปสู่การคลอดเบบี๋ที่สุขภาพดีทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *