ภาวะเต้านมอักเสบและฝีที่เต้านมในคุณแม่ให้นมบุตร

0

เต้านมอักเสบ เป็นภาวะที่พบได้ทั้งเพศชายและหญิง แต่ส่วนใหญ่จะพบได้ในผู้หญิงที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร โดยเฉพาะในช่วง 6–12 สัปดาห์แรกของการให้นม เรียกว่าเป็นอาการยอดฮิตสำหรับคุณแม่ป้ายแดง ที่น่ากลัวคือหากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม อาจทำให้เกิดภาวะฝีที่เต้านมตามมาได้

เต้านมอักเสบ (mastitis หรือ mammary cellulitis) หมายถึง การอักเสบของเนื้อเยื่อเต้านมโดยอาจจะมีการติดเชื้อร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ การอักเสบของเต้านมจะทำให้แม่มีอาการปวดและรู้สึกไม่สบายตัว ส่งผลให้ไม่ต้องการให้ทารกดูดนมจากเต้า ทั้งนี้พบว่า ภาวะเต้านมอักเสบเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การให้นมแม่ในระยะยาวไม่ประสบความสำเร็จ

ฝีที่เต้านม (breast abscess) หมายถึง หการมีหนองสะสมอยู่ในเต้านม เป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้หลังจากมีภาวะเต้านมอักเสบ

การอักเสบติดเชื้อที่เต้านม พบได้ร้อยละ 10-20 ในหญิงหลังคลอดที่ให้นมบุตร มักจะเกิดขึ้นภายใน 6-8 สัปดาห์แรกหลังคลอด โดยจะพบบ่อยที่สุดในช่วงหลังคลอดสัปดาห์ที่ 2-3 ทั้งนี้พยาธิสรีรวิทยาในการเกิดภาวะอักเสบติดเชื้อที่เต้านมนั้น เกิดจากการคั่งของน้ำนมในเต้านม (milk stasis) เป็นระยะเวลาหนึ่ง ทำให้เกิดการอักเสบในส่วนใดส่วนหนึ่งของเนื้อเยื่อเต้านมโดยที่ไม่มีการติดเชื้อ หากไม่ได้รับการดูแลแก้ไขหรือมีแผลเกิดขึ้นที่บริเวณหัวนม เชื้อแบคทีเรียจะสามารถเข้าไปสู่เนื้อเยื่อเต้านม ก่อให้เกิดการติดเชื้อและมีการอักเสบกระจายไปทั่วทั้งเต้านมได้ โดยหากไม่ได้รับการรักษาภาวะอักเสบติดเชื้ออย่างเหมาะสมจะมีโอกาสเกิดเป็นฝีที่เต้านมได้ประมาณร้อยละ 3

ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดภาวะอักเสบติดเชื้อที่เต้านม

– มีน้ำนมเหลือค้างในเต้านม ซึ่งอาจเกิดจากการให้นมแม่ไม่ถูกวิธีหรือแม่มีการสร้างน้ำนมมากเกินไป

– มีภาวะเต้านมคัดตึง (breast engorgement) ที่ไม่ได้รับการรักษา

– มีภาวะท่อน้ำนมอุดตัน (plugged duct)

– เว้นระยะการให้นมนานเกินไป หรือหยุดให้นมทันทีโดยไม่ได้ระบายน้ำนมออกอย่างเหมาะสม

– ใส่ชุดที่กดและรัดบริเวณเต้านม ทำให้มีน้ำนมคั่งในเต้านม

– มีแผลที่หัวนม

– มีเชื้อราในช่องปากทารก

– มีภาวะลิ้นติด (tongue-tie) ในทารก

– มีภาวะเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ

– มีประวัติการอักเสบติดเชื้อที่เต้านมมาก่อน

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดฝีที่เต้านม

– หยุดให้นมทันทีระหว่างการรักษาภาวะเต้านมอักเสบติดเชื้อ

– ภาวะเต้านมอักเสบติดเชื้อที่ไม่ได้รับการรักษา หรือได้รับการรักษาไม่ถูกต้อง

– อายุมากกว่า 30 ปี หรืออายุครรภ์ขณะคลอดมากกว่า 41 สัปดาห์

การป้องกันภาวะเต้านมอักเสบและฝีที่เต้านม

– ให้นมอย่างถูกวิธี ไม่มีน้ำนมเหลือค้างในเต้านม

– หากพบว่ามีการคั่งของน้ำนมในเต้านม ให้บีบออกโดยการประคบอุ่น และนวดบริเวณที่มีน้ำนมคั่งไปในทิศทางของหัวนม

– หากมีภาวะเต้านมคัดตึงให้ดูแลรักษาโดยเร็ว

– ดูแลป้องกันการเกิดแผลที่หัวนม

– หลีกเลี่ยงการใส่ชุดชั้นในที่มีโครงกดทับ หรือใช้เปลอุ้มเด็กที่มีสายรัดแน่นกับตัวมากเกินไป

– ในกรณีที่ต้องการหย่านมให้ลดจำนวนมื้อในการให้นมบุตรทีละน้อยอย่างเหมาะสม

ทั้งนี้ หากสงสัยว่ามีเต้านมอักเสบรวมถึงภาวะฝีที่เต้านมไม่ควรปล่อยผ่าน ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกวิธี ที่สำคัญควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *